บทความที่ 17/2552
มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

               นับเป็นเวลา 21 ปีกับอาชีพพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ธนาเดช ชัยยะสมุทร ตัดสินใจหันหลังให้กับการทำงานประจำที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเหมืองแม่เมาะหันมาประกอบอาชีพเกษตรกร ที่บ้านทราย หมู่ที่ 4 ต.ต้นธงชัย อ.เมือง จ.ลำปาง เพื่อเดินทางตามความต้องการของตนเองที่เคยตั้งใจไว้ว่าจะทำให้การเกษตรไทยได้พัฒนาขึ้น
               โดยพื้นฐานแล้ว ธนาเดช ไม่ได้เรียนจบด้านการเกษตรแต่มีความสนใจในอาชีพนี้ ทำให้มีความตั้งใจในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมและทดลองทำในพื้นที่ของตนเอง เริ่มจากการปรับปรุงพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นดินลูกรังโดยวิธีการปล่อยให้หญ้าขึ้นแล้วไม่เผา ปล่อยทิ้งไว้เมื่อถึงฤดูฝนดินมีความชื้นจึงทำการไถกลบหญ้าลงไปในดินปีละ 2 ครั้งช่วงต้นฝนและปลายฝนทำอย่างนี้อยู่ 4-5 ปี ดินที่แข็งปลูกพืชอะไรแทบไม่ได้นอกจากหญ้าก็เริ่มดีขึ้น หลังจากนั้นจึงเริ่มวางแผนปลูกแก้วมังกรโดยทำปุ๋ยหมักจากเศษหญ้าใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี ซึ่งได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการทำปุ๋ยหมักจากสถานีพัฒนาที่ดินลำปาง
               เมื่อได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการเกษตร ธนาเดช เกิดความต้องการที่จะถ่ายทอดความรู้ไปสู่เกษตรกรตามที่ตั้งใจไว้ จึงสมัครเข้าเป็นหมอดินอาสาและเข้ารับการฝึกอบรมการผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ และสารขับไล่แมลง จากกรมพัฒนาที่ดิน จนได้รับคัดเลือกเป็นหมอดินอาสาประจำตำบลของสถานีพัฒนาที่ดินลำปาง ได้รับการฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆที่นำไปสู่การเป็นวิทยากรผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดิน โดยใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดิน ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้
               หลังจากนำความรู้ที่ได้ไปใช้พัฒนาการเกษตรของตนเอง ทำให้ผลผลิตแก้วมังกรมีคุณภาพและรสชาติดีเป็นที่ต้องการของตลาด อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มากเพราะใช้ปุ๋ยหมักที่ผลิตเองเป็นหลัก เทคนิดการปลูกแก้วมังกรของธนาเดชได้รับความสนใจจากเกษตรกรอย่างมากและมีหน่วยงานต่างๆนำไปเผยแพร่มากมาย แต่หลังจากปลูกแก้วมังกรจำนวน 5,000 กว่าต้น มาได้กว่า 6 ปี ก็ต้องตัดสินใจรื้อบางส่วนทิ้งเพื่อลดจำนวนลง เพราะทำไม่ไหวเนื่องจากอายุที่มากขึ้น รวมทั้งขาดแคลนแรงงานในการดูแลรักษาและทำการขนส่ง
               ปัจจุบัน ธนาเดช ปลูกต้นตะกูไม้เศรษฐกิจโตเร็วไว้เป็นบำนาญให้แก่ชีวิต และยังทำการทดลองและวิจัยด้านการเกษตรใหม่ๆในพื้นที่ของตนเอง เพื่อเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติและเผยแพร่ให้เกษตรกรได้นำไปใช้ ตัวอย่างเช่น การปลูกหญ้ารูซี่นอกฤดู เมื่อหญ้ารูซี่เริ่มออกดอกให้ทำการตัดไปเลี้ยงสัตว์ แล้วใส่ปุ๋ยหมักที่ผลิตจากสารเร่งซุปเปอร์ พด. 1 อัตรา 5 กิโลกรัมร่วมกับปุ๋ยยูเรีย 1 กิโลกรัม หว่านในแปลงหญ้าให้ทั่วแล้วปล่อยน้ำให้ทั่วแปลง สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เมื่อหญ้าอายุได้ประมาณ 50-60 วัน ก็ปล่อยให้สัตว์เลี้ยงเข้าแทะเล็มในแปลงหญ้า หลังจากนั้นจึงทำการตัดหรือปล่อยสัตว์เข้าแทะเล็มหมุนเวียน ทุก 30-45 วัน
               การปลูกพริกหวานในพื้นที่ราบ พริกหวานเป็นพืชผักชนิดหนึ่งที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีบนดอยสูง ที่มีสภาพอากาศหนาวเย็น ความชื้นสูง แต่จังหวัดลำปางมีสภาพภูมิอากาศร้อนการปลูกพริกหวานจะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพต่ำ จึงได้ทำการทดลองเพื่อให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพสูงเทียบเท่ากับพริกหวานที่ผลิตในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นได้ โดยเริ่มในเดือนมีนาคมทำการเพาะเมล็ดในถาดเพาะโดยใช้ขี้เถ้าแกลบเป็นวัสดุเพาะ จากนั้นนำไปเก็บไว้ในโรงเพาะชำรดน้ำให้ชุ่มทุกวัน ประมาณ 1 เดือน หรือเมื่อใบเริ่มงอกประมาณ 4-6 ใบ จึงย้ายลงปลูกในแปลงปลูกที่คลุมด้วยสแลนเพื่อป้องกันความร้อนแก่ต้นพริก การเตรียมแปลงจะต้องมีการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักที่ผลิตจากสารเร่งซุปเปอร์ พด. 1 อัตรา 500 กิโลกรัมต่อไร่ และรองก้นหลุมด้วยจุลินทรีย์ป้องกันโรครากเน่าและโคนเน่าที่ผลิตจากสารเร่ง พด. 3 ในอัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ ดินที่ใช้ปลูกจะต้องเป็นดินร่วนมีการระบายน้ำดีและเร่งการเจริญเติบโตด้วยปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ผลิตจากสารเร่งซุปเปอร์พด.2 และป้องกันแมลงศัตรูพืชโดยใช้สารขับไล่แมลงที่ผลิตจากสารเร่ง พด. 7
               การผลิตน้อยหน่านอกฤดู วิธีการผลิตน้อยหน่านอกฤดูสามารถเริ่มทำได้ในช่วงหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ทำการตัดแต่งกิ่งน้อยหน่าในเดือนพฤศจิกายน ทำการเด็ดใบทิ้งให้หมดหยุดการให้น้ำจนกระทั่งเกิดการแตกยอดใหม่ หลังจากแตกยอดใหม่ได้ประมาณ 6-8 ใบ จะเกิดตาดอกจึงเริ่มให้น้ำโดยการให้น้ำสัปดาห์ละครั้งจนกระทั่งดอกเจริญเติบโตเมื่อดอกใกล้บานก็เริ่มให้น้ำมากขึ้น หลังจากติดผลใส่ปุ๋ยหมักบริเวณรอบโคนต้นใช้เศษหญ้าคลุมโคนต้นเพื่อเป็นการรักษาความชื้นในดิน และเร่งการเจริญเติบโตด้วยปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ผลิตจากผลไม้สุก หอยเชอรี่และสารเร่งซุปเปอร์ พด. 2 ใช้ฉีดพ่นทางใบ และป้องกันแมลงศัตรูพืชโดยใช้สารขับไล่แมลงที่ผลิตจากสารเร่ง พด. 7 สัปดาห์ละครั้งร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24
               จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจในการประกอบอาชีพ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อื่นจึงทำให้ ธนาเดช ชัยยะสมุทร ได้รับรางวัลชมเชยใน โครงการ “๘๐ พรรษา พระภูมินทร์ ๘๐ หมอดินนำทิศ สู่ชีวิตพอเพียง” ของกรมพัฒนาที่ดิน นอกจากนี้ได้รับการสนับสนุนให้พื้นที่ทำการเกษตรเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกษตรกรและผู้สนใจสามารถเรียนรู้ศึกษาและดูงานด้านการพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงที่ถูกต้อง
               ธนาเดช บอกว่า “หลายคนสงสัยว่าทำไปเพื่ออะไร มีเงินเท่าไหร่ลงทุนทดลองจนหมด ผมคิดแต่ว่าทำอย่างไรจะช่วยพัฒนาการเกษตรไทยให้ดีขึ้นโดยเริ่มต้นจากที่ลำปางก่อน ช่วยลดต้นทุนการผลิต ผู้ผลิต ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมปลอดภัย หากเราได้สร้างความดีให้กับประเทศชาติบ้าง ก็ไม่เสียชาติเกิด”
               ต้องการศึกษาดูงาน หรือแลกเปลี่ยนความรู้กับ หมอดินธนาเดช ชัยยะสมุทร โทร.054 320 312, 089 8381301 หรือต้องการข้อมูลของสารเร่งพด. เพิ่มเติมติดต่อได้ที่ ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน โทร.02 579 8515