มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

               สมบัติ เทวฤทธิ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม
               “สู้กันต่อไปก็มีแต่บาดเจ็บ ล้มตาย ไม่มีทางชนะ ไม่มีวันจบสิ้น” สมบัติ เทวฤทธิ์ หมอดินอาสาพ้นวัยเกษียณเล่าถึงอดีตที่ได้ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์บางอย่างที่คิดว่าถูกต้อง แต่แท้จริงแล้วผลตอบแทนที่ได้รับกลับมีแต่ความสูญเสีย หลังจากตัดสินใจวางอาวุธเพื่อความสงบสุขในพื้นที่ภาคใต้ สมบัติ หันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม และอาสาเข้าทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์เท่าที่ทำได้ สมบัติบอกว่า “ทำอะไรก็ได้ที่ช่วยงานทางราชการ เคยอยู่แต่ในป่า อยากช่วยเหลืองานเพื่อสังคมบ้าง” จากความตั้งใจดังกล่าวมีส่วนทำให้ สมบัติ ตัดสินใจเป็นหมอดินอาสา เพื่อช่วยเหลืองานกรมพัฒนาที่ดินในการถ่ายทอดความรู้การปรับปรุงบำรุงดินด้วยเทคโนโลยีชีวภาพต่างๆ ให้กับเกษตรกร
               เมื่อได้มีโอกาสเข้ามาเป็นหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในปี พ.ศ.2538 สมบัติ เทวฤทธิ์ ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรและดูงานต่าง ๆ ทำให้ได้รับความรู้ด้านการเกษตรและด้านการพัฒนาที่ดินอย่างมากมาย จากสถานีพัฒนาที่ดินสุราษฎร์ธานี และมีโอกาสทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยพัฒนาที่ดิน จนได้รับเลือกให้เป็นหมอดินอาสาประจำอำเภอเคียนซาในปี 2547 จากนั้นจึงได้ร่วมจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงประจำตำบลเคียนซาขึ้นในพื้นที่ของตนเอง ภายในศูนย์เรียนรู้ฯ มีจุดสาธิตการใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่น่าสนใจ ได้แก่
               การใช้ปุ๋ยหมัก ซุปเปอร์พด.1 ในสวนปาล์มน้ำมันและยางพารา ส่วนผสมในการทำปุ๋ยหมัก ประกอบด้วย กากกาแฟ 1,000 กิโลกรัม มูลค้างคาว 200 กิโลกรัม ยูเรีย 2 กิโลกรัม สารเร่งซุปเปอร์พด. 1 จำนวน 1 ซอง วิธีการใช้ ในสวนปาล์มน้ำมันใช้อัตรา 25 กิโลกรัม/ต้น ยางพาราใช้อัตรา 1,000 กิโลกรัม/ไร่ ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน และปรับปรุงโครงสร้างดินให้ดีขึ้น
               การใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำซุปเปอร์พด.
2 ในสวนปาล์มน้ำมันและยางพารา ส่วนผสมในการทำปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ได้แก่ ปลา 30 กิโลกรัม ผลไม้ 10 กิโลกรัม กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม น้ำ 10 ลิตร สารเร่งซุปเปอร์พด. 2 จำนวน 1 ซอง การนำไปใช้ นำปุ๋ยอินทรีย์น้ำผสมน้ำในอัตราส่วน 1:500 เช่น ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ 1 ลิตร ผสมน้ำ 500 ลิตร สวนปาล์มน้ำมัน ฉีดลงดินรอบทรงพุ่ม ทุก 21 วัน ส่วนในสวนยางพารา ให้นำใบยางพาราที่ร่วงลงดินมาคลุมไว้ระหว่างแถวของต้นยางพาราเพื่อรักษาความชื้นของดิน พร้อมทั้งฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์น้ำลงบนใบยางพาราเพื่อให้ย่อยสลายเร็วขึ้นเป็นอินทรียวัตถุสำหรับปรับปรุงดินต่อไป และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำฉีดพ่นต้นยางพาราเพื่อให้ง่ายต่อการกรีด มีปริมาณน้ำยางมากขึ้นและน้ำยางมีความเข้มข้นขึ้น โดยฉีดพ่นบริเวณที่กรีดยางตั้งแต่โคนต้นจนสูงขึ้นมาประมาณ 2 เมตร ทุก 21 วัน ยกเว้นช่วงที่มีการผลัดใบในเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน ในนาข้าวฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์น้ำผสมน้ำ ในอัตราส่วน 1:1,000 ฉีดพ่นเมื่อข้าวถึงระยะตั้งท้องและระยะเริ่มออกรวง ช่วยให้เมล็ดข้าวที่ได้มีลักษณะสมบูรณ์ส่วนไม้ผล ได้แก่ ลองกอง ใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำผสมน้ำ 1:500 ฉีดพ่น ทุก 21 วัน ช่วยเพิ่มการติดผลและป้องกันหนอนเจาะลำต้นและผล
               การใช้สารเร่งพด.6 ผลิตสารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น ใช้บำบัดน้ำเสีย และกลิ่นเหม็นจากโรงทำน้ำยางพารา วิธีใช้เจือจางสารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็นกับน้ำ ในอัตรา 1:10 เทลงบริเวณที่บำบัดทุกๆ 7 วัน
               การใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำซุปเปอร์พด. 2 และสารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็นพด.6 เลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ และสารบำบัดน้ำเสีย 3 ลิตรต่อปริมาตรน้ำในบ่อ 8 ลูกบาศก์เมตร ใส่ลงในบ่อทุกๆ 7 วันช่วยรักษาคุณภาพ น้ำในบ่อเลี้ยงปลาไม่เกิดการเน่าเสีย
               ศูนย์เรียนรู้ฯแห่งนี้มีผู้สนใจแวะเวียนมาดูงานและขอรับสารเร่งพด.เป็นประจำซึ่ง สมบัติ ก็ยินดีถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้สนใจอย่างสุดกำลังที่มี ถึงแม้อายุ 65 ปีแล้ว ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างไร สมบัติ บอกว่า “เราเป็นหมอดินอาสามีหน้าที่ให้ความรู้กับคนอื่นและหาความรู้เพิ่มเติม เวลาไปอบรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรถ้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยต้องเสียค่าเทอม เมื่อได้ความรู้แล้วต้องกลับมาทำให้สำเร็จเป็นตัวอย่างให้เกษตรกร” สมบัติ เทวฤทธิ์ ได้รับเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 2551 สาขา การพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เป็นรางวัลที่สมบัติบอกว่า “สร้างความภาคภูมิใจให้กับวงศ์ตระกูล เป็นหมอดินต้องเสียสละเวลาเพื่อส่วนรวม” สมบัติ เทวฤทธิ์ ตัวอย่างของการเสียสละเพื่อส่วนรวม สิ่งที่ประเทศของเรากำลังต้องการ…
               ติดต่อเรียนรู้ ศึกษาดูงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ สมบัติ เทวฤทธิ์ ได้ที่ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ต.บ้านเสด็จ อ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี โทร. 08 9292 3474, 077 409 021