มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

               "ขมิ้น" หรือ ขมิ้นชัน หรือ ขมิ้นหัว หรือ ขมิ้นแกง เป็นสมุนไพร มีเหง้าสีเหลือง อมส้ม ประเภทพืชล้มลุก มีเหง้า หรือหัวอยู่ใต้ดิน มีการศึกษาพบว่า หากรับประทานขมิ้นพร้อมกับอาหารจะช่วยป้องกันมะเร็งในลำไส้ รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้ท้องอืด ท้องเฟื้อ และยังช่วยเจริญอาหารด้วย ขมิ้นยังมีผลดีต่อผิวหนัง คือ ช่วยรักษาโรคผิวหนัง แก้อาการผื่นคัน รักษากลากเกลื้อน รักษาแผลสด และยังมีสรรพคุณในการรักษาโรคอีกสารพัด คนไทยนิยมใช้เหง้าขมิ้นทั้งสดและแห้งในการแต่งกลิ่น และสีในอาหารโดยเฉพาะอาหารปักษ์ใต้ นิยมนำมาใส่ในแกงต่างๆ
               จากความนิยมบริโภคขมิ้นในพื้นที่ภาคใต้ทำให้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนขมิ้นชันปลอดสารพิษ โดยกลุ่มเกษตรกรบ้านวังขุม ม.5 ต.เขาวง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฏร์ธานี มีแนวคิดร่วมกันปลูกขมิ้นและดำเนินการจัดตั้งกลุ่มขึ้น เพื่อผลิตขมิ้นปลอดสารพิษไว้บริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้เสริม ในช่วงเริ่มปลูกยางพาราหรือปาล์มน้ำมันใหม่หลังจากโค่นต้นยางเก่าที่หมดสภาพทิ้ง ซึ่งเป็นช่วงที่เกษตรกรจะไม่มีรายได้ การปลูกขมิ้นแซมในสวนช่วงนี้ จึงเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์และมีรายได้ระหว่างรอการเติบโตของยางพาราหรือปาล์มน้ำมัน
               ในการเตรียมพื้นที่ปลูกขมิ้นปลอดสารพิษ วินัย ฤทธิกุล ประธานกลุ่ม อธิบายว่า เป็นข้อตกลงของกลุ่ม ต้องคัดเลือกแปลงที่ไม่ใช้สารเคมีมาเป็นระยะเวลา 2 ปี เมื่อตรวจสอบแล้วจึงทำการไถพรวนและปลูกพืชปุ๋ยสด หลังจากไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดแล้ว 10-15 วัน จึงทำการปลูกขมิ้น โดยใช้เหง้า หรือหัว ปลูกระยะห่างประมาณต้นละ 30 ซม. ระหว่างแถวห่างประมาณ 80 ซม. วินัย บอกว่า ระหว่างปลูกขมิ้นจะไม่มีการใช้สารเคมีใดใดทั้งสิ้น จะให้แต่ปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น ซึ่งได้รับความรู้การผลิตปุ๋ยหมักจากสารเร่งซุปเปอร์พด.1 และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากสารเร่งซุปเปอร์พด.2 จากสถานีพัฒนาที่ดินสุราษฏร์ธานี ซึ่งสามารถทำใช้ได้เองช่วยลดต้นทุนการในผลิต โดยใช้ปุ๋ยหมักหว่านในแปลง อัตราประมาณ 500-1,000 กก./ไร่
               ที่บ้านวังขุมเป็นเขตพื้นที่สวนผลไม้ มีการจัดงานวันผลไม้บ้านวังขุมทุกๆปี ผลไม้ที่เหลือทิ้งจากในสวนมากมายสามารถนำมาเป็นวัสดุหลักในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำต้นทุนต่ำ ที่กลุ่มดำเนินการผลิตและใช้เองภายในกลุ่ม โดยใช้ผลไม้ 40 กก. กากน้ำตาล 10 กก. น้ำ 10 ลิตร หมักกับสารเร่งซุปเปอร์พด.2 1 ซอง ใช้เวลาหมักประมาณ 7 วัน ได้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ จำนวน 50 ลิตร เมื่อต้นขมิ้นอายุได้ประมาณ 1 เดือนเศษ ให้ฉีดพ่นทุกๆ 7-10 วัน โดยเจือจางกับน้ำอัตรา 1:500 หลังจากต้นขมิ้นออกดอกจะหยุดการเจริญเติบโตจึงเลิกฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์น้ำ นอกจากนี้จะต้องดายหญ้าในแปลงปลูกประมาณ 3 เดือนต่อครั้ง เมื่อปลูกขมิ้นได้ประมาณ 9-10 เดือน ก็สามารถขุดไปจำหน่ายได้
               สำหรับคุณภาพและราคาของขมิ้น วินัย บอกว่า ขมิ้นที่ทางกลุ่มปลูกโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ได้รับรองคุณภาพสมุนไพรไทยจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีแง่งหรือแขนงขนาดใหญ่ น้ำหนักดี ได้ผลผลิตประมาณ 2,500-2,700 กก./ไร่ จำหน่ายได้ราคาแพงกว่าขมิ้นที่ปลูกโดยการใช้สารเคมี เกษตรกรมีรายได้ประมาณ 20,000-30,000 บาท/ไร่ ซึ่งเริ่มแรกเมื่อรวมกลุ่ม ขายได้กิโลกรัมละ 6 บาท ปัจจุบัน มารับซื้อที่กลุ่มกิโลกรัมละ 17 บาท ขึ้นอยู่กับราคาของตลาดและต้นทุนการผลิต ถ้าหากทำเองภายในครอบครัวไม่จ้างแรงงานก็จะได้กำไรมาก นอกจากการจำหน่ายเป็นขมิ้นสดแล้ว ทางกลุ่มยังเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูปผลผลิต ทำขมิ้นผง ขมิ้นผงแคปซูล ขมิ้นอบแห้ง จำหน่ายปลีกและส่งโรงาน บริษัท ร้านค้า โรงพยาบาล เพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ
               การใช้ประโยชน์จากสมุนไพรกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในยุคปัจจุบันที่คนหันมาสนใจรักษาสุขภาพโดยการใช้ผลผลิตจากธรรมชาติมากขึ้น หากมีพื้นที่ว่างปลูก ขมิ้น สมุนไพรสารพัดประโยชน์อีกชนิดหนึ่ง ก็น่าสนใจไม่น้อยเหมือนกัน...
               สนใจขอคำแนะนำวิธีการเพาะปลูกหรือต้องการหัวขมิ้นสำหรับขยายพันธุ์ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากขมิ้น ติดต่อ วินัย ฤทธิกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขมิ้นชันปลอดสารพิษ ม.5 ต.เขาวง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฏร์ธานี โทร.089 971 6318 ส่วนสารเร่งซุปเปอร์พด.1 และ2 ติดต่อได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน โทร.02 579 8515