มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

                ส้มโอ พันธุ์ขาวแตงกวา ไม้ผลชนิดหนึ่งที่เกษตรกร บ.ห้วยเข้ ต.บ้านไร่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี นิยมปลูกกันมาก ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ก็ใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลักในการเพิ่มผลผลิต แต่สวนผสมของ สอาด ปานพิม ที่ปลูกส้มโอประมาณ 8 ไร่ กลับใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก ด้วยความเชื่อมั่นว่าปุ๋ยอินทรีย์สามารถให้ผลผลิตได้ไม่ต่างจากปุ๋ยเคมี ทั้งยังสามารถฟื้นสภาพดินให้ดีขึ้นได้
                ในอดีตสวนผสมของ สอาด ปานพิม เคยปลูกมะม่วงเป็นหลักแต่เนื่องจากผลผลิตขายได้ราคาไม่ดีเท่าที่ควร จึงเปลี่ยนเป็นสวนผสม โดยปลูกส้มโอเป็นพืชหลักแซมด้วยพืชไร่ และพืชผัก เช่น ฟัก ฟักทอง แตงกวา มะละกอ หมุนเวียนกันไปในแปลงส้มโอ ด้วยความต้องการพัฒนาความรู้ทางการเกษตร และจากการแนะนำของเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินอุทัยธานีในปี 2538 สอาด ปานพิม จึงได้สมัครเข้าเป็นหมอดินอาสาเพื่อช่วยถ่ายทอดความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินให้กับเกษตรกร
                เมื่อเข้ามาเป็นหมอดินอาสาจึงได้รับการอบรมเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดินในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เพื่อช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมี และในฐานะที่เป็นหมอดินอาสาที่ต้องถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร ทำให้ หมอดินสอาด ต้องทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้ในสวนของตนเอง เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่เกษตรกร ซึ่งเป็นการนำไปสู่การเลิกใช้ปุ๋ยเคมีได้ในที่สุดเมื่อปี 2542 สอาด เล่าว่า “เมื่อก่อนตอนเริ่มปลูกส้มโอก็ใช้ปุ๋ยเคมีช่วยอยู่บ้างประมาณ 2 ปี แต่ตอนนี้ใช้แต่ปุ๋ยอินทรีย์ ผลผลิตจากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในระยะแรกได้น้อยกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีบ้าง แต่เมื่อใช้ปุ๋ยอินทรีย์ไปเรื่อยๆผลผลิตจะเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่าปุ๋ยเคมี ทั้งยังทำให้ดินดีขึ้น และต้นทุนการผลิตก็ต่ำกว่ามาก เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้แรกๆผลผลิตลดลงก็เลิกใช้ ต้องมีความพยายามและอดทน อยากให้มาดูว่าที่นี่ทำได้จริง มีเกษตรกรมาดูแล้วไปทำใช้ในไร่อ้อย ผลผลิตก็ดีขึ้น”
                สำหรับการปลูกส้มโออินทรีย์ในสวนผสมแห่งนี้ ใช้สารเร่งซุปเปอร์พด.1 และ2 ซึ่งปุ๋ยหมักจากสารเร่งซุปเปอร์พด.1 จำนวน 1 ตัน ใช้ส่วนผสมหลักที่หาได้จากสวนผสมของตนเอง ประกอบด้วย ซังข้าวโพด และใบส้มโอ 1,000 กก. มูลวัว มูลไก่ มูลสุกรที่เลี้ยงไว้เอง 200 กก. ปุ๋ยไนโตรเจน 2 กก. สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 จำนวน 1 ซอง เมื่อได้ปุ๋ยหมักนำไปใช้โดยใส่รอบทรงพุ่มส้มโอ ? กก.ต่อต้น ทุกๆ 6 เดือน
                ส่วนปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากสารเร่งซุปเปอร์พด.2 ใช้ผลส้มโอที่หล่นอยู่ในสวน สัปะรด หอยเชอรี่ และวัสดุที่เหลือทิ้งจากตลาดสด ได้แก่ เศษปลา เศษเครื่องในไก่ ทั้งหมดรวมกันประมาณ 80 กก.
กากน้ำตาลปกติใช้ 20 กก. แต่เพื่อเร่งความหวานของส้มโอ หมอดินสอาดใช้ 30 กก. น้ำ 20 ลิตร สารเร่งซุปเปอร์พด.2 2 ซอง ใช้เวลาการหมัก 15-20 วัน การใช้เจือจางด้วยน้ำอัตราส่วน 1 ต่อ 500 ฉีดพ่นทางใบ ทุกๆ 3 เดือน และใช้รดลงดินบริเวณรอบทรงพุ่ม ต้นละ ? ลิตร 3 ครั้ง ครั้งแรกช่วงผลส้มโอขนาดเท่าผลส้มเช้ง และรดอีก 2 ครั้งโดยเว้นระยะห่างกันครั้งละ 2 เดือน
                ส้มโอของ หมอดินสอาด ออกผลผลิตให้เก็บขายได้ปีละ 2 ครั้ง สร้างรายได้ปีละเกือบ 1 แสนบาท โดยใช้ต้นทุนในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 6,000 บาท และยังมีพืชผัก และพืชไร่ ที่ปลูกแซมในสวนส้มโอ ซึ่งหลังจากเหลือกินภายในครอบครัว และแจกจ่ายให้พี่น้องแล้ว ยังนำไปขายเพิ่มรายได้อีกเดือนละ ประมาณ 2,000 บาท
                ความสำเร็จของ สอาด จากการทำสวนผสมโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งได้รับรางวัลต่างๆ เช่น รางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขา อาชีพไร่นาสวนผสม ภาคเหนือ ชนะเลิศแปลงเศรษฐกิจพอเพียง อ.บ้านไร่ ผลผลิตส้มโอได้รับการรับรองเป็น สินค้าคุณภาพ มาตราฐาน อาหารปลอดภัย
                .... สอาด ปานพิม อีกหนึ่งเกษตรกรที่แสดงให้เห็นว่าการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ สามารถทำได้ และใช้ได้จริง
                ติดต่อ สอาด ปานพิม เพื่อขอคำแนะนำหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้ที่ 51 ม.10 บ.ห้วยหนามเข้ ต.บ้านไร่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี โทร.084 9512254 ส่วนสารเร่งซุปเปอร์พด. ติดต่อขอข้อมูลและขอรับได้ที่ สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หรือที่ ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม โทร.02 5798515