มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

                หลังจากที่สังเกตว่านาข้าว 10 ไร่ ที่ทดลองใส่มูลสุกร จำนวน 5 ตัน ลงไป ข้าวมีการเจริญเติบโตได้ดีกว่านาข้าวอีก 50 ไร่ ที่ใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวทำให้ อนันต์ สดวกดี เริ่มสนใจศึกษาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อย่างจริงจัง อนันต์ เล่าถึงอดีตว่า “เมื่อก่อนทำนา ใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลัก ได้มีโอกาสไปดูงานเกี่ยวกับการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ก็สนใจ เพราะคิดว่าสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ ในแปลงนาสาธิตก็เห็นว่าข้าวเขียวดี แรกๆมาทดลองทำใช้เองไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะใส่ปุ๋ยเคมีมานานแล้ว แต่แปลงนา 10 ไร่ ติดถนน ทดลองใส่มูลสุกรลงไปปรากฏว่าข้าวดีขึ้น                 จึงคิดว่าปุ๋ยอินทรีย์น่าจะดีต่อดินและพืช ต้องหาทางศึกษาเพิ่มเติม เพื่อหาแนวทางที่ถูกต้องในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพไว้ใช้”
                จากการหาความรู้เพิ่มเติมและทดลองผลิตปุ๋ยอินทรีย์ต่อเนื่องมาโดยตลอด และได้รับคำแนะนำจากสถานีพัฒนาที่ดินนครสวรรค์ ในเรื่องการใช้สารเร่ง ซุปเปอร์พด.1 2 และ3 ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ จนประสบผลสำเร็จสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเกษตรกร และอนันต์ ได้รับเลือกให้เป็นวิทยากรหมอดินอาสาประจำจังหวัดนครสวรรค์ แนะนำการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ และสารไล่แมลงศัตรูพืชให้แก่เกษตรกร จนถึงปัจจุบัน อนันต์ ได้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ดคุณภาพสูง 2 สูตรด้วยกัน คือ สูตรปรับปรุงบำรุงดิน และสูตรเพิ่มแป้งและน้ำตาล
                ส่วนผสมสูตรปรับปรุงบำรุงดิน ประมาณ 1 ตัน ประกอบด้วย ปุ๋ยหมักที่ผลิตจากสารเร่งซุปเปอร์พด.1 600 กก. ยิปซั่ม 300 กก. กระดูกป่น 50 กก. มูลค้างคาว 20 กก. รำละเอียด 30 กก. ปุ๋ยอินทรีย์น้ำผลิตจากสารเร่งซุปเปอร์พด.2 250 กก. นำส่วนผสมทั้งหมดผสมเข้าด้วยกัน จากนั้นนำสารเร่งซุปเปอร์พด.3 สำหรับผลิตเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชละลายในน้ำ 30 ลิตร หน่อกล้วยสับ 10 กก. กากน้ำตาล 5 กก. น้ำมะพร้าว 30 ลิตร ผสมเข้าด้วยกัน แล้วนำไปผสมในกองปุ๋ยทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน จึงนำไปใช้ ในส่วนของสูตรเพิ่มแป้งและน้ำตาล จะเพิ่มส่วนผสมลงไป ได้แก่ ฟอสเฟต 100 กก. ส่าเหล้า 100 กก. มูลค้างคาวหนัก(มูลค้างคาวคุณภาพดี) 100 กก.
                อัตราการใช้ในนาข้าว หลังหว่านข้าว 1 วัน ใส่สูตรปรับปรุงบำรุงดิน 50 กก.ต่อไร่ เมื่อข้าวอายุได้ 60 วัน ใส่สูตรเพิ่มแป้งและน้ำตาล 30 กก.ต่อไร่ สำหรับพืชไร่ อ้อย ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ขณะเตรียมดินก่อนปลูก ใส่สูตรปรับปรุงบำรุงดิน 50 กก.ต่อไร่ หลังจากปลูกประมาณ 3-4 เดือน ใส่สูตรเพิ่มแป้งและน้ำตาล 30 กก.ต่อไร่ กลุ่มเกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์บอกว่า “ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้จาก 1 ไร่เคยใช้ปุ๋ยเคมี 2 กระสอบ เหลือเพียง 20-30 กก.ต่อไร่ และถ้าดินดีขึ้นเรื่อยๆ ก็จะลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้อีก” ผลผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้นข้าวจาก 85 ถังต่อไร่ เป็น 110 ถังต่อไร่ อ้อย 15 ตันต่อไร่ เพิ่มเป็น 22 ตันต่อไร่
                สำหรับเกษตรกรที่ต้องการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้ อนันต์ แนะนำว่า ต้องศึกษาให้ถูกต้องมั่นใจแล้วค่อยลงมือทำถึงจะได้ประโยชน์ ใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีอยู่ในไร่นา และหาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด ใบอ้อย ต้นถั่วเขียว ฯลฯ และปรึกษาผู้มีประสบการณ์แล้วรวมกลุ่มกันทำ
                ผู้สนใจสามารถขอคำปรึกษาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจาก อนันต์ สดวกดี ได้ที่ 159/2 ม.3 บ.ดงมัน ต.จันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ โทร.087 8423488 ส่วนสารเร่งซุปเปอร์พด.1 2 และ3 สอบถามรายละเอียดได้ที่ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน โทร.02 5798515