มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

                หลังจากเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ สุริวงศ์ แห้วเพ็ชร ใช้ความรู้ที่เล่าเรียนมาทำงานอยู่ในโรงงานที่กรุงเทพ โดยคิดอยู่เสมอว่าวันหนึ่งจะต้องกลับมาทำงานที่บ้านเกิด ใน ต.ทัพหลวง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี สุริวงศ์ เล่าว่า “เมื่อ โรงงานน้ำตาลตั้งขึ้นที่ตำบลทัพหลวง ก็ตัดสินใจกลับมาทำงานที่นี่ เพราะอยู่กรุงเทพไม่เหมือนอยู่ที่บ้าน ได้อยู่กับครอบครัวและที่บ้านก็มีพื้นที่ทำการเกษตรอยากกลับมาทำการเกษตรด้วย”
                พื้นที่ทำการเกษตรที่มีอยู่ จำนวน 20 ไร่ ส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกอ้อยโดยใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลัก สุริวงศ์ บอกว่า “ในสมัยก่อนการทำไร่ส่วนมากจะใช้แต่ปุ๋ยเคมีซึ่งก็ได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ แต่มาระยะหลังนี้ใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้นแต่ผลผลิตกลับลดลง จึงเริ่มสนใจเกี่ยวกับปุ๋ยอินทรีย์แต่ยังไม่มีข้อมูลมากนัก”
                จากการทำงานอยู่ในโรงงานน้ำตาลทำให้ สุริวงศ์ สังเกตว่ากากตะกอนอ้อยหรือที่โรงงานเรียกว่า ฟินเตอร์เค้ก เป็นวัตถุดิบเหลือใช้ที่มีอยู่มากมายจากโรงงานน้ำตาล ซึ่งน่าจะนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ โดยทดลองนำมาใส่ในไร่อ้อยปรากฏว่าดินดีขึ้น จึงนำมาคิดและวิเคราะห์รวมทั้งปรึกษากับเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินอุทัยธานี เพื่อนำมาเป็นวัสดุหลักในการผลิตเป็นปุ๋ยหมัก เมื่อได้ปุ๋ยหมักแล้วนำมาใช้กับแปลงอ้อยก็ได้ผลเกินความคาดหมายทำให้ สุริวงศ์ เริ่มมีความมั่นใจในการใช้ปุ๋ยหมักในการปรับปรุงดินให้มีคุณภาพดีและเพิ่มผลผลิต
                เมื่อใช้ได้ผลดี จึงได้แนะนำให้เกษตรกรได้ทดลองใช้ก็ได้รับการยอมรับ จึงได้จัดตั้งกลุ่มขึ้นภายในหมู่บ้านเมื่อปี 2547 มีสมาชิกเริ่มแรก ประมาณ 50 คน ทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้กันเองในกลุ่ม ต่อมาทางจังหวัดอุทัยธานีได้ให้ความสนใจจึงให้งบประมาณสนันสนุนในรูปของวัตถุดิบและเครื่องจักร ในการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรเพื่อผลิตปุ๋ยหมักให้กับสมาชิกและเกษตรกรทั่วไปได้ใช้ จนถึงปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 230 คน โดยได้จดทะเบียนกลุ่มกับสหกรณ์จังหวัด ชื่อว่า “กลุ่มเกษตรกรทำสวนทัพหลวง” โดยยอดจำหน่ายล่าสุดในปี 2550 ประมาณ 900,000 บาท
                สำหรับการผลิตปุ๋ยหมักของกลุ่มดังกล่าว มีส่วนผสม ได้แก่ กากตะกอนอ้อยหรือเศษใบอ้อย จำนวน 1,000 กก. มูลสัตว์ จำนวน 200 กก. สารเร่งซุปเปอร์พด.1 ของกรมพัฒนาที่ดิน 1 ซอง ซึ่งขอรับได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทั่วประเทศ ส่วนวิธีการกองปุ๋ยหมัก ขั้นตอนแรก นำเศษวัสดุที่จะใช้ทำปุ๋ยหมัก(กากตะกอนอ้อยหรือเศษใบอ้อย)มากองเป็นชั้นแรกขนาดกว้าง 2-3 เมตร สูงประมาณ 30-40 ซม. ย่ำให้แน่นและรดน้ำให้ชุ่ม ขั้นตอนที่สอง นำมูลสัตว์ประมาณ 50 กก. มาโรยบนชั้นของวัตถุดิบให้ทั่วแล้วรดน้ำให้ชุ่ม ขั้นตอนที่สาม นำสารเร่งซุปเปอร์พด.1 ละลายน้ำ รดให้ทั่วกอง ขั้นตอนสุดท้าย นำเศษวัสดุที่ใช้ทำปุ๋ยหมักมากองทับแล้วนำมูลสัตว์โรยทับให้ทั่วทั้งผิวหน้า เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
                การดูแลกองปุ๋ยหมัก ควรรดน้ำสม่ำเสมอไม่ให้กองปุ๋ยแห้งและแฉะจนเกินไป กลับกองปุ๋ยหมักประมาณ 7-10 วันต่อครั้ง เพื่อเป็นการระบายอากาศและลดความร้อยภายในกองปุ๋ย ทำให้การย่อยสลายเป็นไปด้วยดี ส่วนปุ๋ยหมักที่เสร็จและนำไปใช้ปรับปรุงดินได้ สีของเศษวัสดุจะมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ ลักษณะของวัสดุจะอ่อนนุ่มและเปื่อยยุ่ย ไม่มีกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นฉุน ความร้อนภายในกองปุ๋ยจะใกล้เคียงกับอุณหภูมิภายนอก
                จากความสำเร็จ ความรู้ความสามารถ และการถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรในฐานะหมอดินอาสาทำให้ สุริวงศ์ แห้วเพ็ชร คว้ารางวัลหมอดินอาสาดีเด่น สาขาการผลิตและการใช้ปุ๋ยหมัก ประจำปี2551 สุริวงศ์ ฝากว่า “อยากให้เกษตรกรยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ดำเนินชีวิต การทำเกษตรต้องคิดว่าจะลดต้นทุนอย่างไร ไม่จำเป็นต้องใช้กากตะกอนอ้อยใบอ้อยที่เราตัดก็นำมาทำปุ๋ยได้ วัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตรสามารถนำมาทำปุ๋ยได้ การใช้เคมีร่วมกับอินทรีย์จะช่วยลดต้นทุนการผลิต”
                หากต้องการความรู้เพิ่มเติม หรือทดลองนำปุ๋ยหมักไปใช้ก็สามารถติดต่อ สุริวงศ์ แห้วเพ็ชร ได้ที่ บ้านเลขที่ 9 ม.12 ต.ทัพหลวง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี