มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

                พื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 70 ไร่ มีลักษณะเป็นที่ดอน ของหมอดิน แผ่ว พิมพ์สี ประสบปัญหาหลักๆ ในการทำการเกษตรเช่นเดียวกับพื้นที่ดอนทั่วไป คือ การชะล้างพังทลายของหน้าดิน แต่ยังดีที่ ต.แม่ต้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก แห่งนี้ ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูงเนื่องจากพื้นที่เป็นป่ามาก่อน ไม่เคยได้รับสารเคมีทางการเกษตร แต่ก็ขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกในบางช่วงที่ฝนทิ้งระยะเป็นเวลานาน
                หมอดินแผ่ว ใช้พื้นที่ของตนทำการเกษตรโดยปลูกไม้ผล 30 ไร่ พืชไร่ 30 ไร่ และพืชผัก 10 ไร่ พื้นที่รวม 70 ไร่แห่งนี้ จึงมีผลผลิตทุกอย่างให้เก็บเกี่ยวหมุนเวียนตลอดปี เช่น มะนาว กล้วยหอมทอง ส้มโอ ขนุน มะละกอ หน่อไม้ไผ่ตรง ข้าวโพด เป็นต้น ส่วนเหตุผลง่ายๆ ที่สมัครเป็นหมอดินอาสาแผ่ว บอกว่า “ผมชอบการเกษตรเลยสมัครเป็นหมอดินได้ทราบวิธีการปรับปรุงดิน การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์น้ำไว้ใช้ และได้แจกจ่ายให้เกษตรกร”
                ปัญหาหลักในการทำเกษตรบนที่ดอนก็คือการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ทำให้หน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ถูกชะล้างออกไป สำหรับกิจกรรมงานพัฒนาที่ดินของหมอดินแผ่ว เพื่อทำการเกษตรในพื้นที่ดอนแห่งนี้ คือ การปลูกหญ้าแฝกป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิวหน้าดินในฤดูแล้ง และตัดใบหญ้าแฝกมาใช้เป็นวัสดุเพื่อทำปุ๋ยหมักด้วย ส่วนปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ในสวนผสมนี้ ใช้ปุ๋ยหมักพด.1 รองก้นหลุมในไม้ผลและพืชผัก ใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำพด.2 ฉีดพ่นทุก 7 วัน และสารป้องกันแมลงศัตรูพืช พด.7 ในระยะที่มีแมลงรบกวนไม้ผล พืชไร่และพืชผัก
                วัสดุหลักที่นำมาผลิตปุ๋ยหมัก คือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ ได้แก่ กากถั่วเขียว ถั่วเหลือง และมูลสัตว์ หมอดินแผ่ว บอกว่า “กากถั่วเขียว ถั่วเหลือง ที่กองทิ้งอยู่ในไร่เขาให้ฟรีๆแต่ผมต้องรีบไปเอาเพราะเขาจะเผาทิ้ง ขอร้องว่าอย่าไปเผาเอามาทำปุ๋ยได้ ส่วนมูลวัวแถวนี้เลี้ยงวัวมากก็จ้างให้เขาโกยใส่กระสอบ กระสอบละ 5 บาท ประมาณ 20 กก. วัสดุที่ใช้ทำปุ๋ยหมักจึงได้จากแถวนี้ทั้งนั้น”
                สำหรับการผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำพด.2 ของหมอดินแผ่วใช้ ยอดกล้วย ยอดผักบุ้ง ฟักทอง มะละกอ เป็นวัสดุหลักในการหมัก เพื่อช่วยให้ต้นแตกยอดอ่อนและเพิ่มความหวานกรอบให้ไม้ผล ส่วนสารป้องกันแมลงศัตรูพืชพด.7 หมักกับสมุนไพร เช่น หางไหลแดง บอระเพ็ด ตะไคร้หอม มะกรูด ข่า เป็นต้น “การใช้สารป้องกันแมลงเป็นการใช้ฤทธิ์ของสมุนไพรไล่ให้แมลงไป ไม่ได้ทำให้แมลงตายเหมือนยาฆ่าแมลง ถ้าเกิดแมลงรบกวนก็ฉีดพ่นอีกได้ ไม่ต้องซื้อสามารถทำเองได้ลงทุนน้อย และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย วัสดุหลักคือพืชสมุนไพรทุกชนิดมีมากในท้องถิ่น อยู่ข้างทาง และในป่าเต็มไปหมด หากใครไม่รู้จักสนใจทำจะพาไปดู”
                หมอดินแผ่ว ฝากทิ้งท้าย ไว้ว่า “ปัจจุบันถ้าเราใช้สารเคมีอย่างเดียวไปไม่รอดแน่ ต้องใช้สารอินทรีย์ร่วมด้วย ใน อ.ท่าสองยาง หากเกษตรกรสนใจผมจะไปทุกที่ไปทำให้ดูที่บ้าน การเรียนรู้ต้องมาจากการปฏิบัติ ถ้าพูดให้ฟังหรือรู้แต่หลักการก็ทำไม่สำเร็จ ต้องปฏิบัติมากๆ จะรู้จริง แต่ก็ต้องตามกำลังที่ทำไหว อย่าฝืน” การที่รักในอาชีพเกษตรทำให้เกษตรกรคนหนึ่ง ยังคงสนใจค้นคว้าและศึกษาการทำเกษตรอยู่สม่ำเสมอ และยินดีถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่นๆอย่างสุดความสามารถโดยไม่คำนึงถึงอายุที่ล่วงเลยวัยเกษียณมาแล้ว แผ่ว พิมพ์สี หมอดินอาสาดีเด่น สาขาการจัดการดินในที่ดอน
                หากสนใจในกิจกรรมพัฒนาที่ดินติดต่อ แผ่ว พิมพ์สี ที่บ้านที่เขาตั้งชื่อว่า สถานีอนามัยดิน เลขที่ 25 ม.2 ต.แม่ต้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โทร.087 8457295