นางเฉื่อย พวงเวียง
133/1 หมู่ 10 (บ้านใหม่ชัยมงคล) ต.เชียงทอง กิ่งอ.วังเจ้า จ.ตาก


1. ความเป็นมา

 

          การทำการเกษตรบนพื้นที่ลาดชัน  โดยขาดความระมัดระวัง  และมิได้คำนึงถึงการอนุรักษ์ดินและน้ำ นับเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรที่ดิน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ  จึงเกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อต้องการเพิ่มผลผลิต  ซึ่งส่งผลกระทบถึงระบบนิเวศน์โดยรวม  และบางครั้งรุนแรงถึงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน    เช่น เหตุการณ์ดินถล่มที่ผ่านมา  ดังนั้น การนำวิธีอนุรักษ์ดินและน้ำโดยวิธีกลร่วมกับวิธีพืช  ผสามผสานเทคโนโลยีชีวภาพที่เหมาะสมจะทำให้ใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินและน้ำได้อย่างยั่งยืน

 

 

 

 

 

         ป้าเฉื่อย  พวงเวียง   เป็นตัวอย่างหนึ่ง   ของเกษตรกรที่นำวิธีการดังกล่าวมาใช้โดยเฉพาะ “หญ้าแฝก”  ที่นำมาปลูกในพื้นที่การเกษตร  และเห็นประโยชน์ชัดเจน   ทั้งด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ การฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรม  และปรับปรุงสภาพแวดล้อม         

 

 

 

 

 

          บนพื้นที่จำนวน 17 ไร่    บ้านใหม่ชัยมงคล     ป้าเฉื่อยใช้ทำกินมาตั้งแต่ปี 2535      พื้นที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนลาดถึงเป็นเนินเขาเตี้ยๆ    ลักษณะดินเป็นดินเหนียวปนกรวดปนลูกรัง หน้าดินตื้น  ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ  เป็นดินกรด ค่า pH 5.3 (จัดอยู่ในกลุ่มชุดดินที่ 46)ป้าเฉื่อยใช้ที่ดินปลูกกล้วยน้ำว้า  ลำไย  มะละกอ  และพืชผัก  รวม 9 ไร่  ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 8 ไร่

 

 

 

 

 

          เมื่อปีงบประมาณ 2548 สถานีพัฒนาที่ดินตาก   ได้รับงบประมาณดำเนินงานจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำตามโครงการพัฒนาที่ดินชุมชนบนพื้นที่สูงในพื้นที่บ้านใหม่ชัยมงคล  ซึ่งพื้นที่ของป้าเฉื่อยอยู่ในโครงการดังกล่าวด้วย  โดยพื้นที่จำนวน 8 ไร่  ที่มีความลาดชันประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น ป้าเฉื่อยสังเกตว่าผลผลิตข้าวโพดลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะใช้ปุ๋ยเคมี  ผลผลิตที่ได้ก็ไม่คุ้มกับการลงทุน  จึงเข้าร่วมโครงการฯ โดยก่อสร้างคันคูรับน้ำขอบเขา   (Hillside Ditches)  พร้อมปลูกหญ้าแฝกขวางความลาดชันตามแนวคันคูฯ  และได้ปรับเปลี่ยนจากปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างเดียวเป็นการปลูกยางพารา   นอกจากนี้ยังปลูกกล้วยน้ำว้าสลับเพื่อเป็นร่มเงา  และเป็นรายได้ก่อนยางพารา  พื้นที่ว่างระหว่างแนวคันคูฯ  ปลูกถั่วพร้าคลุมดินและสับกลบเป็นปุ๋ยพืชสด  เพื่อปรับปรุงบำรุงดินแล้วจึงปลูกพริกเพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินให้คุ้มค่าที่สุด     ส่วนพื้นที่ด้านล่างเป็นทางน้ำธรรมชาติได้ก่อสร้างคันชะลอความเร็วของน้ำ (Check Dam) บ่อดักตะกอนดิน (Sediment Trap) และปลูกหญ้าแฝกรอบบ่อดักตะกอนดิน  และที่สำคัญได้นำชีวภาพมาทดแทนเคมี    โดยทำปุ๋ยหมักจากสารเร่ง พด.เพื่อใช้กับยางพารา  กล้วยน้ำว้าและพริก  ทำปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากสารเร่งพด.และสารป้องกันแมลงศัตรูพืชพด.ใช้กับยางพารา  พริก  และหญ้าแฝก  เป็นการลดการใช้สารเคมีทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น ที่สำคัญคือความปลอดภัยของผู้บริโภค

 

 

 

 

 

          จากความคิดเดิมที่มีความสนใจแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว    เมื่อมีโอกาสได้ปลูกหญ้าแฝก  จึงรู้สึกภาคภูมิใจและพูดเสมอว่า  นับว่าเป็นบุญที่ได้มีโอกาสปลูกหญ้าแฝกของในหลวงฯ   ป้าเฉื่อยได้ตั้งใจดูแลรักษาเป็นอย่างดี  สังเกตุความเปลี่ยนแปลงต่างๆ  จนสามารถพูดถึงประโยชน์ของหญ้าแฝก ตามที่ได้พบเห็นด้วยตนเอง  เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2549  เจ้าหน้าที่ของสถานีพัฒนาที่ดินตาก  ไปเยี่ยมป้าเฉื่อยที่บ้านตามปกติ  ป้าเล่าให้ฟังด้วยความตื่นเต้น

 

 

          ”…….ป้าพบวิชาใหม่แล้ว  วันหนึ่งฝนตก  ป้ายืนดูแนวหญ้าแฝกอยู่ข้างบน  น้ำไม่ไหลผ่านแนวหญ้าแฝกนะ   ป้าคิดได้ว่าหน้าดินป้าไม่เสียไป และน้ำก็ไม่ไหลแรง  จนทำให้ถนนด้านล่างเสียหาย  เหมือนที่ผ่านมา……..”

 

-

 ดินบริเวณใกล้กับแนวหญ้าแฝกมีความร่วนซุยดี   พบไส้เดือนมากขึ้น    ซึ่งเกิดจากการตัดใบหญ้าแฝกคลุมดิน  เมื่อย่อยสลายจึงเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน โครงสร้างดินดีขึ้น ดินมีความอุดมสมบูรณ์         

 

-

นอกจากการตัดใบหญ้าแฝกคลุมดิน  เป็นการเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดินแล้ว  ยังสามารถลดปริมาณวัชพืชที่ขึ้นปกคลุมในแปลงได้ จึงช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช             

 

-

ดินมีความชุ่มชื้นอยู่ได้นาน   จากการที่ฝนทิ้งช่วงนานกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา   พืชที่ปลูกร่วมกับหญ้าแฝกยังเจริญเติบโตได้ดี         

 

 

 

 

 

 

 

          ป้าเฉื่อยเน้นย้ำว่า ถ้าต้องการเห็นประโยชน์ของหญ้าแฝก จะต้องใส่ใจดูแลรักษา พร้อมทั้งเฝ้าสังเกตุอย่างใกล้ชิด    ณ วันนี้ป้ายืนยันได้ว่า  หญ้าแฝกมีประโยชน์มากมาย ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ขึ้น  พืชที่ปลูกร่วมกับหญ้าแฝกเจริญเติบโตได้ดี จึงตั้งใจว่านอกจากจะดูแลหญ้าแฝกที่ปลูกไว้ให้ดีที่สุดแล้ว  ยังจะปลูกเพิ่มเติมในพื้นที่ที่สามารถปลูกได้  และจะช่วยขยายผลสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไป

 

 

  2.  ข้อมูลการปลูกหญ้าแฝก  

2.1

พื้นที่ปลูกหญ้าแฝก

-

จำนวน 8 ไร่ ใช้กล้าหญ้าแฝก จำนวน70,000 กล้า

2.2

เริ่มดำเนินการปลูก

-

เดือนมิถุนายน  2548

2.3

วัตถุประสงค์ในการปลูก

-

ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ปรับปรุงโครงสร้างของดิน  เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในดิน รักษาความชุ่มชื้นในดิน

2.4  

วิธีการปลูก

-

ปลูกขวางความลาดชัน  ตามแนวคันคูรับน้ำขอบเขาร่วมกับการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ได้แก่ ยางพารา กล้วยน้ำว้า    ที่ว่างระหว่างแนวคันคูฯ   ปลูกถั่วพร้าคลุมดินและสับกลบเป็นปุ๋ยพืชสด จากนั้นปลูกพริกเป็นรายได้เสริม  ใช้กล้าแฝกพันธุ์พระราชทาน

 

 

-

ปลูกล้อมต้นไม้ผลแบบครึ่งวงกลม ใช้กล้าหญ้าแฝกพันธุ์พระราชทาน

 

 

-

ปลูกรอบบ่อดักตะกอนดินใช้กล้าหญ้าแฝกพันธุ์กำแพงเพชร 2

 

 

-

ปลูกลงแปลงขยายพันธุ์  จำนวน ไร่ ใช้กล้าหญ้าแฝกพันธุ์พระราชทาน

2.5

การดูแลรักษา

-

รดน้ำแล้วปลูก  1  ครั้ง เนื่องจากปลูกในช่วงต้นฤดูฝน  มีฝนตกต่อเนื่อง  จึงได้รับน้ำเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโต

 

 

-

กำจัดวัชพืชที่ขึ้นปกคลุมหญ้าแฝก

 

 

-

ใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ผสมน้ำ 1:500  ลาดรดพร้อมกับรดพริกและยางพารา

 

 

-

เมื่อแฝกเริ่มออกดอก  ตัดใบ  คลุมดินและคลุมโคนต้นพืชที่ปลูก ปลูกซ่อมแซมแทนต้นที่ตาย

   

2.6

ผลสำเร็จของการดำเนินงาน

-

แถวของหญ้าแฝก จะเป็นกำแพงที่มีชีวิตช่วยชลอความเร็วของน้ำไหลบ่าหน้าดิน  เก็บกักตะกอนดินไม่ให้ไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง และยังช่วยทำให้น้ำซึมซับลงในดินมากขึ้น

 

 

-

ช่วยปรับโครงสร้างดิน ดินมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น  จากการตัดใบหญ้าแฝกคลุมดินและคลุมโคนต้นพืชที่ปลูก  เมื่อใบหญ้าแฝกย่อยสลายสังเกตุเห็นดินมีความร่วนซุย และพบไส้เดือนมากขึ้น

 

 

-

ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน

 

 

-

ช่วยรักษาสภาพแวดล้อม  ลดการใช้สารเคมี

  3.  ข้อมูลส่วนตัว : นางเฉื่อย  พวงเวียง  

3.1

วัน เดือน ปีเกิด

-

เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2480 ที่จังหวัดขอนแก่น  ปัจจุบันอายุ 69 ปี

3.2

การย้ายถิ่นฐาน

-

ปี 2506  ย้ายครอบครัวมาประกอบอาชีพการเกษตร ที่ จ.กำแพงเพชร

 

 

-

ปี 2535  ย้ายมาอยู่ที่บ้านใหม่ชัยมงคล ม.10 ต.เชียงทอง กิ่งอ.วังเจ้า จ.ตาก

3.2

ที่อยู่ปัจจุบัน

-

บ้านเลขที่ 133/1 หมู่ที่ 10  บ้านใหม่ชัยมงคล  กิ่ง อ.วังเจ้า  จ.ตาก  รหัสไปรษณีย์  63000 โทรศัพท์  087-1990690

3.3

การศึกษา

-

จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

3.4

สถานภาพการสมรส

-

สมรสกับนายพรมมา  พวงเวียง    ปัจจุบันอายุ 72 ปี  มีบุตร  4 คน

3.5

แรงงานด้านการเกษตร ในครัวเรือน

-

มี  3  คน (ป้าเฉื่อย  สามีป้าเฉื่อย  และบุตรสาวอายุ 36 ปี)