มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

                ในภาวะปุ๋ยเคมีราคาแพง ปุ๋ยอินทรีย์จึงได้รับความสนใจจากเกษตรกรมากขึ้น ถึงแม้ว่าการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ยังไม่สามารถทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีได้ 100 % เนื่องจากพืชบางชนิดอาจยังต้องมีการใช้ปุ๋ยเคมีอยู่ แต่จากผลการทดลองพบว่าถ้าใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยเคมี ทั้งยังลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ไม่ต่ำกว่า 50% ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรลดลง ที่สำคัญยังเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน ช่วยปรับโครงสร้างดินให้ดีขึ้น ผลผลิตก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
                ปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ออกมาจำหน่ายมากขึ้นเรื่อยๆ แต่แนวทางของรัฐบาลต้องการให้เกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง โดยให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันผลิตใช้ในชุมชน กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้สนับสนุนในการจัดตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพขึ้น และถ่ายทอดการใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่กลุ่มเกษตรกร
                มูลสัตว์เป็นวัสดุอินทรีย์ที่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้เป็นอย่างดี จึงเป็นวัสดุหลักที่นิยมใช้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนผสมอื่นๆ ก็จะเป็นเศษวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟาง แกลบ รำ ทลายปาล์ม ขุยมะพร้าว และอาจเสริมด้วยธาตุอาหารอื่นๆ ตามแต่ละสูตรของผู้ผลิต ซึ่งใน ต.หอกลอง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก มีเกษตรกรอีกกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง บุญเลิศ เทพวอน หมอดินอาสาประจำตำบลและประธานกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์อันเม็ดที่ บ.โปร่งนก ต.หอกลอง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เริ่มจากการทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ซึ่งได้ความรู้จากการอบรมจากศูนย์ต่างๆ “หลังจากไปศึกษาดูงานมาคณะที่ไปด้วยกันไม่มีใครกล้าทำกลัวใช้ไม่ได้ผล แต่เรามาคิดว่าควรนำวัสดุในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ได้ลงทุนอะไรมาก ไม่ได้ผลก็ไม่เป็นไร”
                เมื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์สำเร็จก็นำไปทดลองใช้ในนาข้าวของตนเองจำนวนพื้นที่ 10 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์พิษณุโลก และสุพรรณบุรี 1 พบว่าเมื่อใช้ปุ๋ยอินทรีย์ผ่านไปประมาณหนึ่งปี พอเข้าปีที่สองก็ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ “เมื่อก่อนใช้ปุ๋ยเคมี กับ ยูเรีย รวมกันประมาณ 10 กระสอบ ตอนนี้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 8 กระสอบ กับ ยูเรีย 3 กระสอบ ช่วยลดต้นทุนจากการซื้อปุ๋ยเคมีไปได้มาก แต่การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ไม่ใช่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วดีต้องใช้ระยะเวลาถึงจะเห็นผล”
                หลังจาก บุญเลิศ นำไปแจกจ่ายทดลองใช้จนเกินการยอมรับ การรวมตัวของชุมชนเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์จึงเกิดขึ้น ภายใต้การนำของหมอจากสถานีอนามัย ต.หอกลอง ที่รู้ถึงพิษของสารเคมีที่มีผลต่อสุขภาพของเกษตรกร เป็นผู้นำในการรวมกลุ่มและของบประมาณจัดตั้งโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ จากหน่วยงานของรัฐ
                ที่นี่สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้วันละ 3 ตัน แจกจ่ายให้สมาชิกหากเหลือก็จำหน่าย สำหรับอัตราส่วนผสมที่ใช้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ประมาณ 1,200 กก. ประกอบด้วย มูลวัว 1,000 กก. ต้นถั่ว และฟางรวม 200 กก. มูลเป็ด 100 กก. กากน้ำตาล 2 กก. ยูเรีย 2 กก. สารเร่งซุปเปอร์พด.1 1 ซอง
                เริ่มทำกองปุ๋ยโดยนำ มูลวัว มูลเป็ด ต้นถั่วและฟาง คลุกผสมกัน รดน้ำให้ได้ความชื้นประมาณ 50 % จากนั้นนำสารเร่งซุปเปอร์พด.1 กากน้ำตาล ยูเรีย ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ 2 ลิตรผสมน้ำ 200 ลิตร คนให้เข้ากันนำไปรดกองปุ๋ยให้ความชื้นเพิ่มขึ้นเป็น 60% แล้วกลับกองทุกๆ 10 วัน หากกองปุ๋ยแห้งให้รดด้วยส่วนผสมเดิมแต่ไม่ต้องผสม สารเร่งซุปเปอร์พด.1 กับ ยูเรีย ให้คงความชื้นประมาณ 60 % ตลอด ประมาณ 45 วัน นำมาอัดเม็ด แล้วตากแดดประมาณ 4-5 ชั่วโมง นำไปใช้ได้
                ในภาวะปุ๋ยเคมีราคาแพง เกษตรกรเริ่มหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น เปิดโอกาสให้พ่อค้าหันมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการจำหน่ายมากขึ้น แต่แท้จริงแล้วหากเกษตรกรร่วมกลุ่มกันก็มีศักยภาพพอที่จะผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองได้ หรือเราจะต้องเป็นหนี้จากการซื้อปุ๋ยตลอดไป...
                หากสนใจรายละเอียดสามารถติดต่อ บุญเลิศ เทพวอน ที่กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์อันเม็ด บ.โปร่งนก ต.หอกลอง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก โทร.087 840 2857 ส่วนสารเร่งซุปเปอร์พด.1 ขอรับได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด