มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

                แม้พื้นที่จะเกิดน้ำท่วมซ้ำๆ ทุกปี แต่ ธวัช คร้ามฤทธิ์ ไม่เคยคิดทิ้งผืนดินทำกินไปไหน หรือปล่อยทิ้งร้างเปล่าประโยชน์ สิ่งที่คิดคือหาวิธีต่อสู้กับภัยธรรมชาติให้ได้ ถึงแม้พืชผลที่เพาะปลูกจะถูกน้ำท่วมเสียหายไปต่อหน้าต่อตาทุกปี
                ธวัช คร้ามฤทธิ์ หมอดินอาสาประจำตำบลวังดาล อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี คิดหาทางใช้ประโยชน์จากพื้นที่ 30 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นนาน้ำท่วมขังปล่อยทิ้งกลายเป็นที่นาร้าง โดยคิดทำสวนผสมผสานเมื่อปี 2545 ปลูก พริก ฟัก บวบ แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่ม จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี พืชที่เพาะปลูกเสียหายหมด ธวัช ทำคันดินรอบพื้นที่เพื่อกันน้ำ แต่เมื่อปี 2546 น้ำก็ท่วมเข้าสู่พื้นที่ คันดินพังทลายหมดน้ำพัดพืชที่เริ่มเพาะปลูกใหม่หายไปในพริบตา
                ในปี 2547 คันดินถูกสร้างขึ้นใหม่อัดดินให้แน่นกว่าเดิม และปลูกหญ้าแฝกรอบคันดินเพราะศึกษาจากเอกสารต่างๆ พบว่าหญ้าแฝกสามารถป้องกันการชะล้างพังทลายได้ แต่เมื่อถึงเวลาน้ำหลากหญ้าแฝกที่เริ่มปลูกใหม่ก็ไม่สามารถช่วยปกป้องคันดินได้ คันดินจึงพังลงมาอีกครั้ง เขาซ่อมแซมคันดินและปลูกแฝกเพิ่มเติมล้อมรอบคันดินเพราะเชื่อว่าหญ้าแฝกเป็นของในหลวงต้องช่วยได้จริง
                ถัดมาปี 2548 ธวัชลงทุนอีกครั้งขุดดินขึ้นมาถมพื้นที่ให้สูงขึ้น แต่ดินที่นำมาถมเป็นดินจากก้นสระเป็นดินชั้นล่างที่มีอินทรียวัตถุน้อยหน้าแล้งดินแห้งแตกระแหง มีคนแนะนำให้ใส่แกลบแต่เมื่อคิดแล้วต้องใช้จำนวนมาก อาจทำให้ต้นทุนการผลิตสูงเกินไป เขานึกถึงหญ้าแฝกที่ปลูกอยู่บนคันดินคิดว่าหญ้าแฝกสามารถเพิ่มความชุ่มชื้นและเพิ่มอินทรียวัตถุในดินได้
                ธวัช นำหญ้าแฝกมาปลูกเป็นแถวยาวตามแนวแปลง สลับกับพืชที่เพาะปลูก และใช้ใบหญ้าแฝกคลุมดินใส่มูลสัตว์และรดด้วยปุ๋ยอินทรีย์น้ำเมื่อย่อยสลายก็เป็นอินทรียวัตถุให้แก่ดิน และจากการสังเกตพบว่าพืชที่อยู่ใกล้กับแถวหญ้าแฝกเจริญเติบโตได้ดี จึงนำหญ้าแฝกมาปลูกล้อมรอบโคนไม้ผลด้วย
                ทุกสิ่งกำลังไปด้วยดี ผลผลิตเริ่มเก็บขายได้บ้าง แต่ภัยธรรมชาติก็ยากที่จะควบคุมได้ ในปี 2549 เกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง คันดินเสริมหญ้าแฝกทำหน้าที่ป้องกันอย่างเต็มที่ จนน้ำเกือบล้นเข้ามา ธวัช ตัดสินใจระบายน้ำเข้าในพื้นที่เพื่อรักษาคันดิน พืชที่เพาะปลูกหายไปกับสายน้ำ หลังน้ำลดก็ซ่อมแซมคันดิน และทำการเพาะปลูกพืชใหม่ แต่หญ้าแฝกไม่ได้รับความเสียหายมากนัก เนื่องจากเป็นหญ้าแฝกลุ่มพันธุ์สุราษฎร์ธานี สามารถทนสภาพน้ำท่วมขังได้ดี
                คำว่าแพ้ไม่เคยเกิดในใจ ธวัช เชื่อเสมอว่าการต่อสู้ของเขากับหญ้าแฝกต้องทำให้สวนผสมผสานแห่งนี้ประสบผลสำเร็จ เป็นตัวอย่างให้เกษตรกรได้เห็นประโยชน์ของหญ้าแฝก ถึงวันนี้สวนแห่งนี้อาจยังไม่ได้ผลผลิตที่สร้างรายได้ก้อนโตให้แก่ ธวัช แต่หญ้าแฝกสามารถผลิกฟื้นผืนดินแห่งนี้ ที่หน้าแล้งดินแห้งจนไม่คิดว่าจะเพาะปลูกพืชได้ เมื่อถึงหน้าน้ำน้ำก็ท่วมขัง แต่วันนี้สามารถทำการเพาะปลูกและเก็บผลผลิตได้แล้ว
                ธวัช คร้ามฤทธิ์ ต้นแบบของเกษตรกรหัวใจแกร่งผู้ใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝก อีกบุคคลที่ได้รับรางวัลจากการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี 2550 ประเภทการปลูก : บุคคล
                หากเกษตรกรต้องการคำแนะนำ หรือกล้าหญ้าแฝกสามารถติดต่อ ธวัช คร้ามฤทธิ์ ที่ 46 หมู่ 7 ต.วังดาล อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี โทร.081 795 7843 หรือสถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หรือที่ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน โทร.02 579 8515