...คว้ารางวัล “การพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”

มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

                แม้อายุย่างเข้า 63 ปี ก็ไม่เป็นอุปสรรคขวางความมุ่งมั่นในการปลูกและเผยแพร่ความรู้เรื่องหญ้าแฝกของ สุเทพ น้อยช่อ หมอดินอาสาประจำอำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องด้วยความศรัทธาในหญ้าแฝกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเห็นประโยชน์จากการปลูกในพื้นที่ทำการเกษตรของตนเอง
               พื้นที่ทำการเกษตร 75 ไร่ ของลุงสุเทพ ที่บ้านโป่งเกตุ ต.ห้วยทราย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปลูกสับปะรดเป็นหลัก แต่เนื่องจากพื้นที่มีความลาดชัน ดินค่อนข้างเป็นทราย และผ่านการใช้สารเคมีมานาน ส่งผลให้ผลผลิตลดลงเรื่อยๆ “เมื่อก่อนผลผลิตไม่ดีเพราะหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ถูกชะล้างไปหมด ต้องใช้เคมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสู้ไม่ไหว ค่าใช้จ่ายในครอบครัวไม่พอและต้องส่งลูกเรียน จึงเข้าไปรับจ้างในกรุงเทพฯ”
                หลังจากเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯส่งลูกเรียนจบ ลุงสุเทพ ตัดสินใจกลับบ้านเกิดมาพลิกฟื้นผืนดินใหม่อีกครั้ง โดยตั้งใจเลิกใช้สารเคมีผลิตสารชีวภาพใช้เองเพื่อลดต้นทุนการผลิต ลุงสุเทพเล่าว่า “ทำงานรับจ้างในกรุงเทพฯ ก็มีรายได้พอสมควรเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง ตัดสินใจกลับมาทำการเกษตร โดยคิดว่าเราทิ้งพื้นที่ทำกินของเราไม่ได้และได้กลับมาอยู่กับครอบครัว และเราเป็นหมอดินอาสาทิ้งไปไม่ได้ต้องรับผิดชอบหน้าที่แพร่เผยความรู้งานพัฒนาที่ดิน”
                เมื่อก่อนนั้นหญ้าแฝกยังไม่เป็นที่รู้จักของเกษตรกรอย่างแพร่หลาย แต่ลุงสุเทพรู้จักกับหญ้าแฝกจากการเป็นหมอดินอาสา จากวารสารหมอดิน และศึกษาจากหนังสือและวารสารต่างๆ เมื่อรู้ว่าการปลูกหญ้าแฝกเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำ จากโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็เกิดความศรัทธาและเชื่อมั่นว่าการปลูกหญ้าแฝกจะสามารถพลิกฟื้นพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง
                ลุงสุเทพทำการปลูกแฝกขวาดความลาดชันในแปลงสับปะรด และแปลงพืชแซมชนิดอื่นๆ เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดินและป้องกันการพังทลายของดิน แม้แต่วิธีการปลูกสับปะรดก็ปลูกขวางความลาดชันต่างจากไร่อื่นๆ ซึ่งจะปลูกเป็นแถวขึ้นลงตามแนวดิ่ง “การปลูกพืชเป็นแถวขึ้นลงน้ำจะไหลลงมาตามแถวนำพาหน้าดินไปหมด การปลูกพืชขวางความลาดชันนอกจากป้องกันการชะล้างแล้วยังสะดวกในการเก็บเกี่ยว เดินขึ้นครั้งเดียวแล้วก็เดินขวางไปทางซ้ายทางขวาลงมาเรื่อยๆไม่เหนื่อย ปลูกเป็นแถวต้องเดินขึ้นลงตลอด”
                การปลูกหญ้าแฝกร่วมกับการใช้สารชีวภาพช่วยฟื้นฟูสภาพดิน ลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตเพิ่มขึ้น พืชหลักอย่างสับปะรดเมื่อก่อนผลผลิตประมาณ 3 ตันต่อไร่ ตอนนี้ได้ 8 ตันต่อไร่ พืชแซมอย่างหอมแดง 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ ปัจจุบัน 2,500 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวโพดเมื่อก่อนได้ 1 ตันกว่าต่อไร่ เดี๋ยวนี้ได้ 3 ตันกว่าต่อไร่
                เริ่มต้นจากหญ้าแฝกเพียง 3,000 กล้า เพิ่มเป็น 250,000 กล้า ด้วยฝีมือของเกษตรกรวัยเกษียณที่ปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ทำการเกษตรของตนเอง สองข้างทางเข้าบ้าน ริมถนนในหมู่บ้าน ขอบฝายน้ำล้น พื้นที่สาธารณะอื่นๆ และเพาะกล้าไว้เพื่อแจกจ่าย ด้วยแรงศรัทธา ความมุ่งมั่น ที่ต้องการให้เกษตรกรได้เรียนรู้ประโยชน์รวมทั้งนำหญ้าแฝกไปปลูกทำให้ สุเทพ น้อยช่อ ได้รับรางวัลที่สร้างความปลาบปลื้มอย่างยิ่ง โล่พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี 2550 ประเภทการปลูก : บุคคล เป็นจุดถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับการปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำของชุมชนที่ทำการเกษตรในพื้นที่ภูเขาในอำเภอท่าปลา และเป็นจุดเรียนรู้เกี่ยวกับหญ้าแฝกให้กับนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจทั่วไป
               “หลังจากปลูกหญ้าแฝก ช่วยเพิ่มผลผลิต ทำให้เศรษฐกิจภายในครอบครัวดีขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้ เมื่อดีขึ้นแล้วก็ต้องช่วยเหลือผู้อื่น ในหลวงท่านบอกต้องทำตนให้เป็นประโยชน์อย่างหญ้าแฝก”
               ติดต่อศึกษาเยี่ยมชมงานการปลูกหญ้าแฝกของ นายสุเทพ น้อยช่อ ได้ที่ 98 หมู่ 7 บ.โป่งเกตุ ต.ห้วยทราย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ โทร.081-190-7314 หรือขอรับพันธุ์กล้าพร้อมทั้งวิธีการปลูก และการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกได้ที่ สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด ติดต่อ ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน โทร.02-579-8515