มณฑป กรุดเจริญ เรียบเรียง

                ปัญหาปุ๋ยเคมีที่ปรับราคาสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในขณะนี้ เพราะปุ๋ยเคมีเป็นผลพลอยได้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทำให้เกิดผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ขณะที่จำนวนผลผลิตที่ได้และราคาขายยังไม่แน่นอน แต่ความเป็นจริงตั้งแต่อดีตราคาปุ๋ยเคมีก็มีแนวโน้มปรับราคาสูงขึ้นอยู่เรื่อยๆ เกษตรกรบางรายจึงปรับเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยชีวภาพ หรือปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งมีราคาถูกกว่าเนื่องจากวัสดุหลักที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยเป็นวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตร และหาได้ง่ายในท้องถิ่น
                ขวัญชัย โค้วปรีชา หมอดินอาสาบ้านหนองหอย หมู่ที่ 6 ต.อ่างทอง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นเกษตรกรรายหนึ่งที่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงไว้จำหน่ายและใช้เอง สามารถลดต้นทุนการผลิตได้จนนำไปสู่การเลิกใช้สารเคมีในที่สุด เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ขวัญชัย ทำการเพาะปลูกมันสำปะหลังและสับปะรด แต่ราคาขายผลผลิตที่ได้เมื่อหักต้นทุน ค่าแรง และค่าปุ๋ยเคมีแล้ว ไม่คุ้มกับการลงทุนลงแรงที่เสียไป
                ขวัญชัย ปรับเปลี่ยนพื้นที่มาทำสวนผสม และผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงไว้ใช้เอง โดยปลูกมะพร้าวเป็นหลักระหว่างแถวแซมด้วยไม้ผลต่างๆ ได้แก่ ขนุน มะม่วง ลำไย จำปาดะ พืชแซมอื่นๆ ได้แก่ ไผ่หวาน ปาล์มน้ำมัน แก้วมังกร พริกไทย ชะอม พริก และพืชสมุนไพรต่างๆ ขวัญชัยเล่าว่า “ส่วนใหญ่บริเวณนี้จะทำสวนมะพร้าวเพียงอย่างเดียว แต่ปล่อยพื้นที่ระหว่างแถวของมะพร้าวให้ว่างเปล่า แต่ที่นี่ปลูกพืชแซมระหว่างแถวเป็นแปลงเกษตรสวนผสมในสวนมะพร้าว ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด บางคนบอกทำไม่ได้ไม่มีน้ำ บางคนว่าปลูกไม่ได้ดินไม่ดี ที่นี่น้ำไม่มีดินไม่ดี แต่ทำให้เห็นแล้วว่าปลูกได้ สร้างรายได้เสริมให้เดือนละประมาณ 5,000 บาท”
                สำหรับปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ในสวนแห่งนี้ เป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงที่ผลิตไว้ใช้เองและจำหน่ายให้แก่เกษตรกร ภายใต้ชื่อปุ๋ยชีวภาพตราหมอดินเพิ่มพูน ซึ่งอัตราส่วนผสม 100 กก. ประกอบด้วย ปลาป่น 20 กก. รำละเอียด 10 กก. หินฟอสเฟต 10 กก. กระดูกป่น 20 กก. มูลค้างคาว 10 กก. มูลไก่ไข่ 30 กก. โดย ขวัญชัย จำหน่ายในราคาไม่แพงพอให้ได้ต้นทุนค่าวัสดุ และค่าแรง แต่คิดว่าได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงไว้ใช้ในสวนของตนเองโดยไม่ต้องซื้อ
                นอกจากนี้ยังนำ ขุยมะพร้าว ซึ่งเป็นวัสดุที่เหลือใช้จากผลผลิตที่มีอยู่จำนวนมากในพื้นที่ นำมาผลิตเป็นปุ๋ยหมักโดยใช้สารเร่งพด.1 ซึ่งส่วนผสมในการกองปุ๋ยหมัก 1 ตัน ใช้ขุยมะพร้าว 1,000 กก. มูลสัตว์ 200 กก. ยูเรีย 2 กก. และสารเร่งพด.1 1 ซอง ขอรับได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด ซึ่งเป็นวิธีการทำปุ๋ยหมักที่ง่าย รวดเร็ว และต้นทุนการผลิตต่ำกว่าปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สามารถใช้ในการเตรียมหลุมปลูก หรือใช้กับต้นพืชที่เติบโตแล้ว และใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงมาช่วยเสริม “เกษตรกรปลอดภัยเมื่อใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ผลิตเองได้โดยใช้วัสดุในท้องที่ ไม่ต้องซื้อสามารถผลิตได้ตลอด”
                ขวัญชัยชี้ให้ดูสวนข้างๆ บอกว่า “แปลงข้าง ๆ ปลูกไม้ผลพร้อม ๆ กันแต่ใช้สารเคมีต้นไม้เจริญเติบโตช้ากว่า เมื่อถึงฤดูแล้งที่นี่ดินจะคงความชุ่มชื้น การใช้สารชีวภาพผลผลิตจะออกเรื่อยๆ เก็บขายได้ก่อนฤดู ส่วนสารเคมีผลผลิตจะออกเป็นช่วงตามฤดู”
               พื้นที่สวนผสม ปลูกมะพร้าวแซมด้วยไม้ผล พืชล้มลุก และสมุนไพรแห่งนี้ เป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ที่เกษตรกรสามารถเข้ามาศึกษาดูงานพัฒนาที่ดิน รวมทั้งเรื่องการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงได้ตลอด โดยมีหมอดินอาสาในโครงการ 80 พรรษา พระภูมินทร์ 80 หมอดิน นำทิศ สู่ชีวิตพอเพียง ของกรมพัฒนาที่ดิน นายขวัญชัย โค้วปรีชา เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ โทร.086-1716196, 087-1719286 หรือติดต่อที่ สถานีพัฒนาที่ดินประจวบคีรีขันธ์ โทร.032-602580