นายอัครเดช บุญผ่องศรี
หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง


บทนำ

          ท่ามกลางกระแสของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ หลายอย่างที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง ได้นำไปสู่นวัตกรรมใหม่ที่มีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ แต่ในการเปลี่ยนแปลงนั้น บางอย่างหากละเลย หรือขาดการสร้างภูมิคุ้มกัน สิ่งใหม่ที่ผลิตได้นั้นจะเป็นเสมือนระเบิดเวลาที่รอวันระเบิด ทำให้มนุษย์เองต้องตกอยู่ในภยันตราย และความกลัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในภายหลัง เช่นเดียวกันกับการเกษตรในยุคก่อนหน้านี้ นิยมการผลิตโดยการใช้สารเคมีกันอย่างมากมายแพร่หลาย และส่วนใหญ่ใช้ในปริมาณมากโดยขาดความรู้ความเข้าใจ ซึ่งเปรียบเสมือนละเลยและขาดการสร้างภูมิคุ้มกัน (Risk management) ปัจจุบันเกษตรอินทรีย์เป็นทางออกของการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety) เป็นการเคารพธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งเป็นการอ้างอิงย้อนยุคใกล้ธรรมชาติ ที่ตั้งอยู่บนหลักเหตุผลอย่างมีสมดุลย์ เพื่อทำให้มนุษยชาติพ้นภยันตรายและความกลัวได้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน นับว่ามีความสอดคล้องและต้องยึดไว้เป็นหลักสำคัญ นั่นคือ เมื่อจะดำเนินงานอะไร หลักอันแรกให้ สำรวจศักยภาพตนเอง หลักอันที่สอง คิดบนหลักเหตุและผล หลักอันที่สามสุดท้ายต้อง สร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อลดความเสี่ยง

หญ้าแฝกกับโครงการหลวง
          โครงการหลวงโดยในหลวงของเรา ทรงประทานแนวทางการดำเนินงานเอาไว้ตั้งแต่ปี 2512 ประการหนึ่งก็คือ ให้มีการผลิตพืชผักและผลไม้ โดยให้ความสำคัญต่อการเคารพธรรมชาติ หรือภูมิสังคมมาโดยตลอด เน้นใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่สูง เพื่อให้ได้ผลผลิตปลอดภัยจากสารพิษและมีคุณภาพชีวิตที่ดี การใช้หญ้าแฝกมาปลูกร่วมกับระบบการผลิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา ก็เป็นอีกวิธีชีวภาพวิธีหนึ่ง ที่ใช้ได้ดีส่งผลให้บนพื้นที่สูง มีการปลูกหญ้าแฝกจำนวนมาก โดยวัตถุประสงค์เดิม ก็เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ช่วยรักษาความชุ่มชื้นและเสริมความแข็งแรงของระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำแบบวิธีกล ต่อมาความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์มีมากขึ้น จึงได้นำหญ้าแฝกไปปลูกขวางร่องน้ำ บ่อดักตะกอน ไหล่ถนน และบริเวณเกิดดินถล่ม ในปัจจุบันด้วยการมีหมอดินดอยอาสาของกรมพัฒนาที่ดิน เกษตรกรบ้านนอแล ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหญ้าแฝกเป็นอย่างดี สามารถแยกหน่อหญ้าแฝกจากแถวปลูกเดิม ขยายพันธุ์นำไปปลูกตามพื้นที่อื่นได้เองอย่างน่าพอใจ บางครั้งก็ขายกล้าและใบให้กับเกษตรกรรายอื่นที่ปลูกสตรอเบอรี่ เพื่อนำไปปลูกและคลุมแปลง สถานที่แห่งนี้กลายเป็นจุดเรียนรู้ให้เกษตรกรหลายจังหวัด และ เกษตรกรจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอื่น ๆ รวมทั้งต่างประเทศ มาศึกษาดูงานเพื่อนำเอาไปเป็นแบบอย่าง

หญ้าแฝกกับการอนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นที่สูง
          พื้นที่ ของโครงการหลวงในเขต 6 จังหวัดภาคเหนือ ส่วนใหญ่จะอยู่บนพื้นที่สูงซึ่งสูงกว่าะดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง 500 - มากกว่า1,000 เมตร การปลูกหญ้าแฝกจะปลูกเป็นแนวขวางความลาดชัน ระยะห่างขึ้นอยู่กับความลาดชัน พื้นที่มีความลาดชันน้อย ระยะแถวหญ้าแฝกที่ปลูกก็จะห่าง แต่ถ้าพื้นที่มีความลาดชันมากขึ้น ระยะแถวหญ้าแฝกที่ปลูกก็จะถี่ขึ้น โดยปกติจะใช้ค่าต่างระดับระหว่าง 1.50 เมตร ในพื้นที่ที่จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำแบบขั้นบันไดดิน หรือแบบคูรับน้ำขอบเขา หรือคันดินบนพื้นที่สูง ก็ให้ปลูกหญ้าแฝกตามขอบขั้นบันได หรือขอบคูรับน้ำขอบเขา หรือขอบล่างคันดินเพื่อช่วยยึดโครงสร้างให้มั่นคงขึ้น ระยะปลูกระหว่างต้น 5 ซม. บนระบบแนะนำและส่งเสริมให้ปลูกไม้ผลเมืองหนาว

การปลูกหญ้าแฝกขอบขั้นบันได

การปลูกหญ้าแฝกขอบคูรับน้ำขอบเขา


หญ้าแฝกกับแมลงศัตรูพืชผัก
          มีคำบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินแม่ฮ่องสอนมาว่า ดั้งเดิมชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงจังหวัดแม่ฮ่องสอน เขาใช้รากหญ้าแฝกหอม มัดเป็นกำวางรองก้นตระกร้าเก็บเสื้อผ้า หรือวางไว้ในตู้เสื้อผ้า เพื่อขับไล่แมลง และมีเกษตรกรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในพื้นที่โครงการพระราชดำริขุนยวม อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ทำการขยายพันธุ์หญ้าแฝกให้โครงการฯ สังเกตพบว่า พื้นที่ที่ใช้ขยายพันธุ์นั้น เดิมมีปลวกอาศัยอยู่ หลังจากการปลูกหญ้าแฝกแล้ว ไม่มีปลวกอาศัยอยู่อีกต่อไป เกษตรกรคนนี้จึงได้นำหญ้าแฝก ไปปลูกในพื้นที่ทำการเกษตรของตนเอง ผลที่ได้รับก็คือ สามารถไล่ปลวกได้เช่นเดียวกัน
          การสำรวจปริมาณแมลงศัตรูพืชผักในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ใช้วิธีการสังเกต(Observation method) ของเจ้าหน้าที่ศูนย์อารักขาพืช มูลนิธิโครงการหลวง สำหรับแปลงสวนอินทรีย์ บ้านนอแล ตำบลม่อนปิน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ 1 ใน 17 แห่ง ที่ผลิตผักอินทรีย์ออกจำหน่ายในตราดอยคำ ก็มีการสำรวจแมลงศัตรูพืชผักด้วย ชนิดของผักอินทรีย์ที่โครงการหลวงผลิตมีมากถึง 27 ชนิด สำหรับสวนอินทรีย์พื้นที่ 165 ไร่ แบ่งเป็นแปลง A B และ C ซึ่งแปลง A มี 73 ไร่ B มี 32 ไร่ C มี 60 ไร่ ตามลำดับ เมื่อกลางปี 2546 ได้ปลูกหญ้าแฝกไปทั้งหมดจำนวน 760,389 กล้า พบว่าหลังจากปลูกหญ้าแฝกตามขอบของระบบอนุรักษ์ดินและน้ำแบบขั้นบันไดดิน ได้ 1 ปีเศษ ในกลางปี 2547 เกษตรกรก็เริ่มได้ใช้ประโยชน์จากใบหญ้าแฝก และเกี่ยวใบที่ความสูงระดับ 30 – 40 ซม. ได้ปริมาณมากขึ้นในปี 2548 และปี 2549

การเกี่ยวหญ้าแฝกเพื่อเตรียมใช้ประโยชน์


          ส่วนหนึ่งของใบหญ้าแฝกที่เกี่ยวได้ นำไปคลุมแปลงผัก และบางครั้งหากมีใบที่เกี่ยวได้มาก ก็จะนำไปทำปุ๋ยหมัก โดยใช้สารเร่ง พด. 1 ช่วยย่อยสลายให้เป็นปุ๋ยหมักเร็วขึ้น หรือบางครั้งก็นำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากการใช้สารเร่ง พด. 2 และใช้สารเร่ง พด. 7 หมักร่วมกับสมุนไพร เพื่อใช้ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช

การคลุมแปลงผักด้วยหญ้าแฝก

 

กองปุ๋ยหมักหญ้าแฝกแบบไม่กลับกอง

กลุ่มเกษตรกรและหมอดินดอยอาสาทำ
ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ พด.2 และสารสมุนไพร พด.7


          เกษตรกรกระทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง หลังการเก็บผักแต่ละรุ่น เกษตรกรจะสับกลบเศษผักและเศษใบหญ้าแฝกที่คลุมอยู่ คลุกเคล้าลงในดินพร้อมด้วยปุ๋ยหมักที่ทำจากหญ้าแฝก เพื่อเตรียมแปลงไว้ในการจะปลูกผักรุ่นต่อไป

การสับกลบหญ้าแฝกกับพืชตระกูลถั่วเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด

การปรับปรุงบำรุงดินโดยใส่ปุ๋ยหมักหญ้าแฝก


          ในช่วงเวลาการปลูกผัก เกษตรกรจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ผลิตได้ ซึ่งมีส่วนผสมของใบหญ้าแฝกหมักร่วมด้วยนั้น นำไปรดหรือพ่น ให้ผักที่ปลูกทุกๆ 10 วัน ในรอบ 1 ปี จะมีการปลูกผักอินทรีย์จำนวน 4 รุ่น

การสับกลบหญ้าแฝกกับพืชตระกูลถั่วเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด

          ในช่วงปลายปี 2548 รศ.ดร.นุชนารถ จงเลขา หัวหน้าศูนย์อารักขาพืช มูลนิธิโครงการหลวง ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่อารักขาพืช ที่ประจำอยู่ที่แปลงสวนอินทรีย์ บ้านนอแล ตำบลม่อนปิน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้สังเกตพบว่า จำนวนของด้วงหมัดผัก (Vegetable Flea beetle) มีจำนวนลดลง ด้วงหมัดผักมี 2 ชนิด คือ ชนิดแถบลายสีน้ำตาลอ่อน และ ชนิดสีน้ำเงินเข้ม ทั้งสองชนิด ไข่ จะวางฟองเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มตามโคนต้น หรือเส้นกลางใบ และตามพื้นดิน ตัวอ่อน อาศัยในดิน ดักแด้ อาศัยในดิน วงจรชีวิต 47 - 83 วัน เมื่อเป็น ตัวหนอน จะกินรากพืช และ ตัวแก่ จะกัดกินใบจนเป็นรูพรุน พืชอาหาร ได้แก่ พืชตระกูลกะหล่ำ ผักกาดหัว ผักกาดฮ่องเต้ และผักกาดที่มีกลิ่นฉุน

ชนิดแถบลายน้ำตาลอ่อน
Phyllotrela sinuata Step.

ชนิดสีน้ำเงินเข้ม
Phyllotrela chontalica Dueriv.

 

ลักษณะใบพืชที่ด้วงหมัดผักเข้าทำลาย

ลักษณะการอยู่เป็นกลุ่มของด้วง ใต้ใบผัก


บทสรุปและข้อเสนอ

          การสังเกตพบว่าด้วงหมัดผัก มีปริมาณลดลงหลังการปลูก และการใช้ประโยชน์จากใบหญ้าแฝกในหลายรูปแบบในครั้งนี้ ได้นำมารายงานเสนอต่อที่ประชุมโครงการหลวงให้ทราบในเบื้องต้นว่า การลดลงของจำนวนประชากรของด้วงหมัดผักหรือด้วงกระโดดนั้น อาจจะเกิดจากการที่แมลงชนิดนี้ไม่ชอบกลิ่นของราก ต้น ใบ หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ จากหญ้าแฝกที่สะสมมาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2- 3 ปี
          อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง หากเรื่องการเกิดประโยชน์จากการปลูกและใช้หญ้าแฝก จะเป็นเรื่องจริง ก็จะสามารถใช้เป็นอีกชีววิธีหนึ่ง เพื่อการป้องกัน หรือกำจัดแมลงศัตรูพืชผัก หรืออาจใช้ในพืชชนิดอื่นที่กว้างขวางออกไป ควรที่นักวิจัยจะได้ทำการทดลองวิจัย เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัด และในที่สุดยังจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกให้แพร่หลาย นอกจากนั้นจะช่วยให้การดำเนินงานตามรอยเบื้องพระยุคลบาท เกี่ยวกับการรณรงค์การใช้ประโยชน์หญ้าแฝก ในการป้องกันการชะล้างพังทะลายของดิน การฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ให้ประสบผลสัมฤทธิ์ ได้อย่างรวดเร็วและเป็นไปอย่างยั่งยืน