บทความที่ 28 / 2551
ประกิต เพ็งวิชัย รายงาน

 

          โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงภูพยัคฆ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านน้ำรีพัฒนา ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ก่อกำเนิดขึ้นมาสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๖ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ป่าไม้ภูพยัคฆ์ ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน และทรงพบว่าป่าไม้ถูกแผ้วถาง ทำให้ป่าเสื่อมโทรม และมีแนวโน้มว่าจะมีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากราษฎรมีความต้องการจับจองพื้นที่ทำกิน และเปลี่ยนที่ทำกินในลักษณะการทำไร่หมุนเวียน เมื่อที่ดินผืนเดิมเสื่อมคุณภาพ ก็ทำการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ดินใหม่เนื่องจากราษฎรยังขาดการเรียนรู้การใช้ที่ดินให้ถูกหลักวิชาการเกษตร จึงจำเป็นจะต้องมีการจัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงโดยนำพื้นที่ที่ถูกบุกรุกแผ้วถางแล้วมาจัดทำการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อปลูกพืชเมืองหนาวที่สำคัญให้เหมาะสม และจัดตั้งเป็นธนาคารอาหารให้ราษฎรบ้านน้ำรีพัฒนา หมู่ที่ ๑๒ ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และหมู่บ้านใกล้เคียงเข้าร่วมโครงการต่อไป
           ในการนี้ทรงรับพื้นที่ไว้พัฒนา และได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง “สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ภูพยัคฆ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ขึ้น โดยนำพื้นที่ที่ถูกแผ้วถางแล้วมาจัดทำเป็นแปลงสาธิตการปลูกพืชเมืองหนาว และให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเกษตรที่ถูกต้องตามหลักวิชา ทั้งนี้เพื่อหยุดยั้งมิให้ราษฎรบุกรุกแผ้วถางป่าเพิ่มขึ้น มีพื้นที่รวม ๑๐,๐๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ ๙,๕๐๐ ไร่ และเพื่อพัฒนาการเกษตร ๕๐๐ ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์ ๔ ประการ
           ๑.เพื่อสนองพระราชดำริ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อให้เป็นแหล่งความรู้ในการประกอบอาชีพทางการเกษตรที่ถูกต้องตามหลักวิชาการให้แก่ราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง
          ๒.เพื่อตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง พัฒนาให้ราษฎรชาวไทยภูเขาได้มีอาชีพการเกษตรตามหลักวิทยาการแผนใหม่ ทดแทนการทำไร่เลื่อนลอยอยู่อย่างเศรษฐกิจพอเพียงให้ “คนอยู่กับป่า” อย่างยั่งยืน
          ๓.เพื่อให้ราษฎรชาวไทยภูเขามีจิตสำนึกและมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูพัฒนา อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่มีคุณภาพและมีป่าไม้ที่สมบูรณ์ตลอดไป
          ๔.เพื่อเป็นสถานีตัวอย่างในการขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นในลักษณะเดียวกัน

          ชีวิตติดดิน..ความเปลี่ยนแปลงของนักต่อสู้ สู่วิถีชีวิตการทำเกษตร

           “ผืนดินถูกพลิกฟื้น รอการงอกเงยของพืชพรรณเมืองหนาว” จากสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง “ภูพยัคฆ์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม้พื้นที่จะมีข้อจำกัดทางด้านความลาดชัน มีการชะล้างพังทลายและดินเสื่อมโทรมแค่ไหนก็ตาม ก็ไม่ยากเกินความสามารถของพวกเรากรมพัฒนาที่ดิน ในการที่จะสนองงานตามแนวพระราชดำริ ทั้งนี้เพื่อราษฎรและพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่โครงการมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีสถานีพัฒนาที่ดินน่าน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต ๗ เป็นผู้ประสานงานกับทางราชการ ชาวบ้านยังได้พูดอย่างมีความหวังด้วยว่าการพัฒนาที่ดินจะนำความรุ่งเรืองมาให้
           ภูพยัคฆ์ได้รับการพัฒนามาเรื่อย ๆ ในส่วนของงานพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้มีการปลูกหญ้าแฝก ขุดขั้นบันไดดิน นอกจากนั้นยังมีการปรับปรุงบำรุงดิน โดยใช้พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วมะแฮะ ถั่วพุ่มดำ
           นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ หัวหน้าสถานีพัฒนาที่ดินน่าน กล่าวว่า การฟื้นฟูสภาพพื้นที่ของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์นั้น พื้นที่แห่งนี้ประสบปัญหาผลผลิตไม่เพียงพอ สภาพดินเสื่อมโทรมและขาดแคลนน้ำ มีการบุกรุกแผ้วถางป่าทำไร่หมุนเวียน รวมทั้งมีปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการใช้สารเคมีจำนวนมากในกระเพาะปลูก และเพื่อช่วยเหลือราษฎรซึ่งมีฐานะยากจน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงภูพยัคฆ์ขึ้น ในส่วนของสถานีพัฒนาที่ดินน่าน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต ๗ กรมพัฒนาที่ดิน โดยได้เข้าไปสำรวจและจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินทำแผนที่ภูมิประเทศและแผนที่ถือครอง ทำการอนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นที่สูงเพื่อให้เหมาะสมกับความลาดชันของพื้นที่ เช่น ขุดคูรับน้ำรอบเขา ขุดขั้นบันไดดิน ปลูกพืชคลุมดินตามแนวขั้นบันไดดิน และปลูกตามแนวระดับ ได้ทำการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ จัดทำระบบป่าเปียก พัฒนาที่ดิน สำรวจทำแผนที่ วางแผนการใช้ที่ดินให้เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของดิน ก่อสร้างบ่อเก็บน้ำสำหรับรองรับน้ำไว้กักเก็บเพื่อกระจายน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตร นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมให้ราษฎรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ และปุ๋ยอินทรีย์น้ำสูตรสารสกัดป้องกันโรคแมลงเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวนาดำพืชผักและไม้ผล
           การดำเนินงานของโครงการพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ มุ่งเน้นให้ราษฎรเกิดการเรียนรู้ การประกอบอาชีพการเกษตรที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองได้ รวมทั้งเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อปลุกจิตสำนึกให้หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ
           เนื่องจากพื้นที่ภูพยัคฆ์ เป็น “ที่สูง” อากาศจึงค่อนข้างหนาวเย็น เหมาะสมที่จะปลูกพืชเมืองหนาว ที่มีค่าสูงทางเศรษฐกิจ จึงได้มีการศึกษาวิจัย และทดลองการปลูกพืชเมืองหนาวขึ้น โดยคัดเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสม ที่จะนำมาปลูกใน “ที่สูง” จนสามารถพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกรชาวไทยภูเขาปลูกผักปลอดสารพิษบนดอยที่สูงแห่งนี้ โดยไม่ต้องใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแม้แต่น้อย พร้อมก่อสร้างบ่อเก็บน้ำ และระบบส่งน้ำเพื่อสนับสนุนน้ำให้แก่ราษฎรในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในพื้นที่ จัดทำระบบกระจายน้ำเข้าสู่แปลงเพาะปลูก ซึ่งใช้น้ำในระบบท่อและสายยาง มีน้ำต้นทุนมาจากน้ำซับบนภูเขาสูงที่สามารถใช้ได้อย่างเพียงพอตลอดปี พืชผักที่ปลูกมีหลากหลาย เช่น ผักกาดเขียว กวางตุ้ง ผักกาดขาวปลี ผักกาดหอม ผักกาดหัว คะน้ายอด คะน้าใบ คะน้าฮ่องกง กะหล่ำม่วง กะหล่ำดอก กะหล่ำปลีหัวใจ บวบหอม ถั่วลันเตา ปวยเล้ง บล็อกโครี่ ดอกไม้จีน น้ำเต้า ฟักทอง ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้ทำการทดลองใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวนาดำในแปลงนาของราษฎรอีกด้วย
           วิธีการเพาะปลูกพืชผักก็เริ่มโดย เพาะเมล็ดผักในกระบะเพาะก่อน เมื่อมีใบจริงแล้วก็ย้ายลงถุง
นำไปอนุบาลในเรือนเพาะชำประมาณ 15 วันก็นำไปปลูกในแปลงที่เตรียมดินไว้ดีแล้ว ปฏิบัติดูแลรักษาจนเก็บเกี่ยวส่งตลาด ซึ่งตลาดมีตลาดประจำอยู่ที่โรงพยาบาลน่าน ตลาดอำเภอเมืองน่าน และสถานที่ราชการต่าง ๆ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีโรคแมลงระบาด ถ้ามีการระบาดสถานีจะเปลี่ยนประเภทของผักที่จะปลูกในรุ่นต่อๆไปทันที การเลือกชนิดผักที่จะปลูกในแต่ละฤดูก็จะเลือกให้เหมาะสมกับฤดูกาลนั้น ๆ ตลอดจนคำนึงถึงความต้องการของตลาดด้วย โดยจะไม่ให้ซ้ำกับพืชผักที่ปลูกตามพื้นที่ราบลุ่มทั่วไป
           นอกจากนั้น สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามแนวพระราชดำริ “ภูพยัคฆ์” ยังได้ศึกษาสภาพพื้นที่ และความเหมาะสมในการปลูกไม้ผลยืนต้นเมืองหนาว เช่น ท้อ พลับ ศุภโชค กาแฟอาราบิก้า หม่อนรับประทานผลสด ฯลฯ
           คุณสุรชัย กันตา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑๒ ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน อายุ ๔๑ ปี กล่าวว่าก่อนเริ่มโครงการฯ ทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวนาปี ตามดั้งเดิมไปเรื่อย ๆ ปลูกกินเอง รายได้ไม่แน่นอน ผมเคยเข้าเฝ้าพระราชินีและได้น้อมนำพระราชดำริ มาปฏิบัติเพื่อใช้ในการดำรงชีพ พอโครงการเข้ามากลัวมีปัญหาเรื่องที่ดิน “กลัวไม่มีข้าวกิน...อยากได้ชีวิตใหม่” จึงเลิกทำไร่เลื่อนลอย พอโครงการเข้ามา ความเป็นอยู่ดีขึ้น ทุกวันนี้..ชาวบ้าน กลับมาทำเอง โดยดูตัวอย่างการเรียนรู้จากการรับจ้างในแปลงเกษตรที่นี่ ได้ความรู้ประกอบอาชีพการเกษตรที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองได้
           “คนนี้รับจ้างไปเรียกว่ามารับจ้างได้เงิน และได้ความรู้ด้วยแนะนำให้ชาวบ้านเลิกเผาป่าถ้ามีเงินมาจ้าง ก็อยากมาทำจะได้เลิกถางป่า สร้างงานในพื้นที่โครงการ เข้ามาทำ ชาวบ้านมีความหวัง..”
           สำหรับไม้ผลที่ปลูกไว้จะทำหน้าที่เสมือนไม้ในป่า ในลักษณะไม้ยืนต้นที่มีระบบรากลึก ที่สร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดิน และก่อกำเนิดต้นน้ำลำธารก็ตาม แต่ในระบบธรรมชาติอันยาวนาน และยั่งยืนนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการฟื้นฟูสภาพป่าโดยตรงทั้งพื้นที่ป่า ให้พันธุ์ไม้เจริญเติบโตเองโดยธรรมชาติ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานทีเดียว การทำนาแบบขั้นบันได และจัดทำระบบกระจายน้ำเข้าสู่แปลงเพาะปลูก พัฒนาและส่งเสริมการปลูกข้าว ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่สูงไม่มีพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ราษฎรจึงอาศัยปลูกข้าวไร่แบบขั้นบันไดแทน โดยวิธีการการทำนาแบบหยอด มีการปรับปรุงบำรุงดิน และปลูกหญ้าแฝกป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ได้ผลผลิต ๖๐ ถังต่อไร่ คุณสุรชัย กล่าว.
           สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง “ภูพยัคฆ์” มีจุดเด่นในหลาย ๆ ด้าน เช่น
                      ๑.
เป็นตัวอย่างการบูรณาการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรบนที่สูง
                      ๒. มีระบบน้ำที่อุดมสมบูรณ์ สามารถใช้น้ำในระบบท่อและสายยาง ได้ตลอดทั้งปี
                      ๓. สภาพอากาศเย็น เหมาะสมต่อการปลูกพืชผักเมืองหนาวที่ตลาดมีความต้องการสูง และแตกต่างจากพืชผักทั่วไป จึงไม่มีปัญหาด้านการตลาด
                      ๔. มีงบประมาณสนับสนุนผลผลิตเพียงพอ
                      ๕. มีการปรับปรุงบำรุงดิน ตลอดเวลาทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นทุนเดิมในการผลิตพืชผัก
                      ๖. มีการปลูกพืชหลากหลายชนิด ปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ลดการระบาดของโรคแมลงศัตรูพืช อีกทั้งเมื่อมีการระบาด ก็จะปรับเปลี่ยนชนิดพืชทันที
                      ๗. มีตลาดรองรับที่ชัดเจน เนื่องจากเป็นพืชผักปลอดสารพิษ ผู้บริโภคมีความต้องการสูงอยู่แล้ว
           เมื่อมีจุดเด่นก็มีจุดด้อยเหมือนกัน อาทิ เช่น
                      ๑. ที่ตั้งของสถานีอยู่ไกล ขนส่งลำบาก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงจึงต้องพึ่งพาภาคราชการสนับสนุนในการขนส่งผลผลิตสู่ตลาด
                      ๒. การประชาสัมพันธ์ให้บุคคลภายนอกทราบถึงความสวยงามของสถานียังมีน้อย
                      ๓. มีข้อเสนอแนะต่อสถานี ว่าควรมีกิจกรรมการเกษตรที่หลากหลาย เพื่อเกื้อหนุนกิจกรรมซึ่งกันและกัน เมื่อเสร็จสิ้น ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่ แล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้าน พร้อมกับมีองค์ความรู้ที่ได้รับ พร้อมที่จะนำไป ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ต่อการส่งเสริมอาชีพ ของพี่น้องเกษตรกร และกับสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกันของเมืองน่าน ต่อไป
          วัตถุประสงค์ ให้เกิดประโยชน์ได้ ๔ ประการ
                      ๑. เพื่อสนองพระราชดำริ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
                      ๒. เพื่อตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง พัฒนาให้ราษฎรชาวไทยภูเขาได้มีอาชีพการเกษตรตามหลักวิทยาการแผนใหม่ ทดแทนการทำไร่เลื่อนลอยอยู่อย่างเศรษฐกิจพอเพียงให้ “คนอยู่กับป่า” อย่างยั่งยืน
                      ๓.
เพื่อให้ราษฎรชาวไทยภูเขามีจิตสำนึกและมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูพัฒนา อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่มีคุณภาพและมีป่าไม้ที่สมบูรณ์ตลอดไป
                      ๔. เพื่อเป็นสถานีตัวอย่างในการขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นในลักษณะเดียวกันวันนี้
           ภูพยัคฆ์ มีสีสันของสภาพพื้นที่ ที่ได้รับการพัฒนา ด้วยการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม บางส่วนที่เคยโล่งเตียน อันเป็นผลมาจากถูกทำลายในอดีต ก็ได้กลับกลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ในส่วนพื้นที่ที่เคยเป็นป่าก็ได้รับการฟื้นฟู ทั้งด้วยการปลูกป่าด้วยไม้โตเร็ว และปล่อยทิ้งพื้นที่ที่เคยเป็นป่า ให้เกิดเป็นป่าใหม่โดยวิธีธรรมชาติ
           ภาพของการทำไร่เลื่อนลอยในอดีตที่เคยสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติ ของประเทศ และชาวบ้านบนพื้นดินแห่งนี้ จึงไม่ได้ทิ้งร่องรอยให้ใครได้เห็นอีกแล้ว เพราะในวันนี้ขุนเขาแห่งภูพยัคฆ์ได้กลับฟื้นกลายเป็นผืนแผ่นดินแห่งพืชพันธุ์อันอุดม ชาวบ้านมีบ้านเรือนอาศัยเป็นหลักแหล่ง มีที่ทำกินที่ถาวร มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง
           โดยเฉพาะดินแดนขุนเขาภูพยัคฆ์ ปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีผู้คนสนใจเดินทางมาเยี่ยมเยือนข้ามทะเลภูเขาลูกแล้วลูกเล่าจนเกือบถึงชายแดนประเทศลาว ถ้าใครได้ไปพักค้างคืนจะดื่มด่ำกับบรรยากาศบนภูเขาสูง ทุกเช้าสัมผัสไอหมอกที่ล่องลอยอ้อยอิ่งปกคลุมหุบเขาและเย็นชื่นใจของฤดูหนาวบนภูพยัคฆ์ ซึ่งเป็นตำนานของนักสู้เพื่อประชาธิปไตยในอดีต เมื่อเดินทางไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังพวกเราได้พบกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาเผ่าลั๊ว ที่แอบอิงอยู่กับธรรมชาติที่แสนไกลถึงสถานีฯ “ภูพยัคฆ์” ที่ใช้ประโยชน์ที่ดินให้คนเหล่านั้นทำการเกษตรเลี้ยงตัวเองได้
           หรือใครชอบสินค้าท้องถิ่นแวะจับจ่ายได้ที่ตลาดชายแดนห้วยโก๋น อยู่บริเวณด่านผ่านแดนบ้านห้วยโก๋น ด่านตรงข้ามคือเมืองน้ำเงิน แขวงไชยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) อยู่ห่างจากเมืองน่าน ๑๓๘ กิโลเมตร ตลาดจะมีทุกเสาร์ เริ่มตั้งแต่เช้าถึงประมาณใกล้เที่ยง สินค้าที่ จำหน่าย ได้แก่ ผ้าทอลายน้ำไหล ฝีมือชาวไทยลื้อ สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ของป่า ลูกต๋าว เป็นต้น อนุญาตให้ประชาชนไทย-ลาว เข้าออกด่านนี้ทุกวันเวลา 08.00-17.00 น.
           และระหว่างเดินทางเส้นทางผ่านก่อนถึงสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง “ภูพยัคฆ์” เชิญเข้าชมตำนานพราวไพรอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ ซึ่งได้เปิดมาตั้งแต่วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๘ อันเป็นสถานที่ยืนยันทางประวัติศาสตร์ของผู้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและสิทธิประชาธิปไตยแห่งปวงชน
           สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินน่าน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต ๗ ตำบลอ่ายนาไลย อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน โทร. ๐๕๔-๗๕๒๔๖๙,๐๕๔-๗๕๒๒๑๕