บทความที่ 27 / 2551
ประกิต เพ็งวิชัย รายงาน

 

          สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และพลเอกณพล บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์ ให้ดำเนินการช่วยเหลือครอบครัวเจ้าหน้าที่และประชาชนที่ประสบเคราะห์กรรมจากการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) จึงได้จัดตั้ง“โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่าง” ขึ้นที่บ้านรอตันบาตู หมู่ที่ ๗ ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อจัดซื้อที่ดินจำนวน ๖๐๐ ไร่ และจัดสร้างหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่าง สร้างงานให้ราษฎรมีอาชีพ รายได้ และมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพื่อสร้างหลักประกันเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ฯ โดยให้ราษฎรดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ“เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเน้นให้คนไทยใช้ชีวิตแบบพออยู่พอกินมากที่สุด
           การดำเนินงานของฟาร์มตัวอย่างฯ นั้น ปัจจุบันได้แบ่งงานออกเป็น ๔ กิจกรรม พื้นที่จำนวน ๓๗๘ ไร่ กิจกรรมที่ ๑ เขตพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พื้นที่ ๕๐ ไร่ จัดเป็นพื้นที่ ผลิตพันธุ์ปลา เลี้ยงอนุบาลลูกปลาในบ่อดิน จำนวน ๔ บ่อ และเลี้ยงปลานิลแดง-ดำ ในกระชัง กิจกรรมที่ ๒ เขตปศุสัตว์ พื้นที่ ๔๖ ไร่ ส่งเสริมการเลี้ยงแพะนม แพะเนื้อ ไก่งวง นกกระจอกเทศ และสัตว์ปีก อื่นๆ กิจกรรมที่ ๓ เขตทำนา มีพื้นที่ ๕๙ ไร่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการจัดรูปแปลงนา ปรับพื้นที่ส่งเสริมการปลูกข้าว (พันธุ์จันทร์เต๊ะ) และหลังจากเก็บกี่ยวข้าวแล้ว ส่งเสริมให้ดำเนินการปลูกพืชไร่ต่างๆ ตลอดทั้งปี และกิจกรรมที่๔ เขตพัฒนาเพื่อปลูกพืชผัก พืชไร่ ไม้ผล เนื่องจากพื้นที่เดิมเป็นที่ทำนา มีปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน พื้นที่จำนวน ๑๑๒ ไร่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการจัดรูปแปลงนา ขุดคูยกร่อง เพื่อปลูกพืชผัก พืชไร่ และไม้ผล และก่อสร้างอาคารผสมปุ๋ย อาคารผลิตเชื้อเห็ด
           นายบัณฑิต ตันศิริ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า“โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่าง” ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ บ้านรอตันบาตู เป็น ๑ ใน ๖ แห่ง ของฟาร์มฯที่กระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆ ของจังหวัดนราธิวาส โดยเริ่มก่อตั้งขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๔๗ มีหลายหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดิน ได้เข้าร่วมดำเนินการออกแบบวางผังพร้อมจัดรูปแปลงนา รวมทั้งสนับสนุนพันธุ์ข้าว ขุดคูยกร่อง ปรับปรุงบำรุงดินเพื่อปลูกพืชผักและไม้ผล สำหรับภายในบริเวณของโครงการ“หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่าง” ในพื้นที่ประมาณ ๖๐๐ ไร่ ทางโครงการฯได้ทำการจัดสรรแบ่งแปลง สำหรับจัดสร้างหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๓๐๐ ไร่ จำนวน ๑๕๐ แปลงๆละ ๒ ไร่ โดยทางโครงการฯได้มอบให้กองทัพภาคที่๔ และหน่วยทหารที่เกี่ยวข้องสร้างบ้านสำหรับช่วยเหลือครอบครัว ราษฎร และเจ้าหน้าที่ผู้ประสบเคราะห์กรรมจากสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน ๑๕๐ หลังคาเรือน ดำเนินงานระหว่างปี ๒๕๔๗ – ๒๕๔๙ ปีละ ๕๐ หลังคาเรือน ด้วยการให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเป็นของตัวเองทำการเกษตรพอเพียง แบบผสมผสานปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เพื่อนำมาเป็นอาหารและนำผลผลิตไปจำหน่ายเพิ่มรายได้เลี้ยงครอบครัว
           “ปรากฏว่าชาวบ้านตื่นตัวให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการกันมาก เนื่องจากเป็นแนวพระราชดำริที่ทรงสอนเรื่องการบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง” นายบัณฑิต กล่าว
           นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า จากการสำรวจสภาพพื้นที่ของกรมพัฒนาที่ดิน พบว่า สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มในโครงการส่งน้ำบำรุงรักษาลุ่มน้ำบางนรา พื้นที่บางส่วนใช้ทำนา อาศัยน้ำฝนทำการเพาะปลูก ผลผลิตได้ไม่แน่นอน บางพื้นที่ใช้เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ บางส่วนปล่อยเป็นพื้นที่ว่างเปล่า และจากการสำรวจดินในพื้นที่ พบว่าเป็นชุดดินตากใบ ชุดดินระแงะ ชุดดินเชียรใหญ่ ลักษณะเนื้อดินเป็นดินเหนียวการระบายน้ำเลว ในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำขังอยู่ที่ผิวดินระหว่าง ๓-๕ เดือน จึงมีศักยภาพเหมาะสมที่จะใช้ทำนาในช่วงฤดูฝน และในช่วงฤดูแล้งสามารถปลูกพืชไร่ พืชผักหรือพืชอื่นที่มีอายุสั้นได้ สำหรับในบริเวณพื้นที่ที่มีน้ำชลประทานเข้าถึง หรือมีแหล่งน้ำธรรมชาติ ถ้าจะปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผลหรือปลูกพืชไร่ และพืชผักตลอดทั้งปี จะต้องทำคันดินล้อมรอบพื้นที่เพาะปลูก และยกร่องปลูกเพื่อช่วยการระบายน้ำของดิน การเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี สำหรับการปลูกพืชให้เลือกชนิดของพืชให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ และชนิดของดิน
           หนึ่งในหัวหน้าครอบครัวบ้านเศรษฐกิจพอเพียง นางลาวอ นิปอ ชาวบ้านรอตันบาตู อยู่บ้านเลขที่ ๗๐/๑ หมู่ที่ ๗ ตำบลตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เล่าว่า ที่บ้านมีสมาชิกลูก ๒ คน เดิมมีอาชีพรับจ้างกรีดยางพารา มีรายได้วันละ ๒๕๐ บาท หลังจากสูญเสียสามีและลูกชายถูกยิงเสียชีวิต ทำให้ขาดที่พึ่งของครอบครัว แต่พอเจ้าหน้าที่ชักชวนเข้าร่วมโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่าง ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แล้ว สนใจอยากปลูกพืชผักบริเวณข้างบ้าน แต่ยังไม่มีความรู้ด้านการเกษตรเลย จึงเริ่มเลี้ยงปลา แต่รายได้แต่ละปีไม่มากนัก คิดว่าน่าจะหาอาชีพเสริมให้ชาวบ้านทำช่วงที่พักจากการทำไร่ ทำนา ด้วยการส่งเสริมให้ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ ทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ เลี้ยงปลา เป็ด ไก่ และทำโรงเพาะเห็ด ปลูกสับปะรด เพื่อให้เป็นบ้านเศรษฐกิจพอเพียงที่สามารถนำผลผลิตมาเป็นอาหาร หากเหลือก็นำไปขาย มีความสุขมากที่มีบ่อปลาเป็นของตนเอง ถึงเวลาเย็นก็จับปลามาทำเป็นกับข้าว ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายอาหารการกิน เรียกว่าอยู่กันแบบพออยู่พอกิน” นางลาวอ กล่าว
           อีกไม่ช้า..โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่าง ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ เป็นพื้นที่สาธิตการทำเกษตรกรรมด้านต่างๆ เพื่อใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญในการประกอบอาชีพการเกษตร ในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง และด้วยความหวัง ความศรัทธา หากเหตุการณ์ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้สงบลง เชื่อมั่นว่าโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่าง ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่บ้านรอตันบาตู หมู่ที่ ๗ ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส
           พระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ด้วยความรัก ความห่วงใย ความเอื้ออาทร ด้วยพระเมตตา ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย ที่จะให้ราษฎรของพระองค์ ได้มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสงบสุขและปลอดภัย พระองค์ไม่เคยทอดทิ้งพสกนิกรของพระองค์ แม้จะอยู่แห่งหนใดของประเทศไทย
           ถือเป็นบุญของพสกนิกรชาวไทย ที่ ได้ทรงมอบพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงไว้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต จากหน่วยงานรัฐ เอกชน ช่วยกันสนองแนวพระราชดำริให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เชื่อว่าชีวิตเกษตรกรชาวไทยต้องดีขึ้นแน่นอน