บ้านยางน้อย ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

บทความที่ 26 / 2551
ประกิต เพ็งวิชัย รายงาน

 

          สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่างๆ เมื่อทรงทราบว่าราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบอาชีพ ก็พระราชทานความช่วยเหลือโดยทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่าง ตามพระราชดำริ เพื่อเป็นแหล่งจ้างแรงงาน แหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษและเป็นแหล่งเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ทรงโปรดฯให้จ้างแรงงานราษฎรในหมู่บ้านใกล้เคียงโครงการเข้ามาเรียนรู้ปฏิบัติงาน โดยสำนักราชเลขาธิการขอรับการสนับสนุนความรู้ทางวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และจัดระบบบริหารจัดการภายในฟาร์ม จำหน่ายผลผลิตให้ประชาชนในพื้นที่ เป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพและราคาถูก ทรงโปรดฯให้จัดตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่าง ตามพระราชดำริ ขึ้นในพื้นที่หลายแห่ง
           ในภาคอีสาน ที่บ้านยางน้อย ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ก็มีฟาร์มตัวอย่าง ที่เน้นการส่งเสริมการพัฒนาเกษตรแบบใหม่ และมีส่วนช่วยเหลือให้วิถีชีวิตของชาวชนบทยังคงอยู่
           ชาวบ้านยางน้อยในอดีตเคยยากจน อาศัยรายได้จากการทำนาเพียงอย่างเดียว ซึ่งเมื่อสภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การทำนาอย่างเดียวไม่เพียงพอ มีสภาพเป็นป่าที่รกร้างว่างเปล่า ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร หรือแต่เดิมเรียกว่า “ป่าหนองแฝก”
           พระพรหมวชิรญาณมีความสนใจและรักงานในด้านอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นอย่างมาก ท่านได้ขอความอุปถัมภ์ กรป.กลาง ตัดถนนสาธารณะจากถนนแจ้งสนิทเข้าไปในป่าหนองแฝก เชื่อมกับถนนในหมู่บ้าน 3 กิโลเมตร และนำพระสงฆ์ ทหาร ตำรวจ นักเรียน พ่อค้า และประชาชนดำเนินโครงการปลูกต้นไม้และอนุรักษ์ธรรมชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ในบริเวณพื้นที่ราชพัสดุป่าหนองแฝกเนื้อที่ 1,800 ไร่ พร้อมขอการสนับสนุนจากจังหวัดอุบลราชธานี กรป.กลาง และกรมชลประทาน ขุดสระน้ำในบริเวณป่าหนองแฝก จำนวน 12 สระ อุปถัมภ์โครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก ศูนย์ศึกษา และปฏิบัติการอุดมศึกษา เพื่อพัฒนาท้องถิ่นแบบยั่งยืน
           ในปี พ.ศ. 2538 พระพรมหมวชิราญาณ ได้นำสภาตำบลหาทางส่งเสริมพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาเสด็จฯพระราชทานโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในพระองค์ โครงการทฤษฎีใหม่ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อดำเนินการสงเคราะห์ประชาชนในพื้นที่ 1,800 ไร่ ในภูมิภาคนี้มีโอกาสเข้าเป็นสมาชิกฝึกอาชีพเสริม เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ทั้งยังเป็นโรงเรียบนสอนการเกษตรที่เน้นการมีส่วนร่วมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกด้วย
           นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการฟาร์มตัวอย่างในพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ บ้านยางน้อย ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2547 เพื่อพัฒนาการเกษตรแบบใหม่ จึงทำให้บ้านยางน้อยในวันนี้ เป็นแหล่งปลูกพืชปลอดสารพิษที่สำคัญให้แก่เกษตรกรในโครงการฯ และให้พื้นที่ใกล้เคียงที่สนใจได้ศึกษาหาความรู้และวิทยาการต่าง ๆ ทางด้านวิชาการเกษตรอย่างถูกต้อง
            นายเกษม ทองปาน รองอธิบดีกรมกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่ากรมพัฒนาที่ดิน มอบหมายให้สถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 4 ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง น้อมรับพระราชดำริฯ ดังกล่าวจัดทำโครงการฟาร์มตัวอย่างฯขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งจ้างงานและเสริมสร้างรายได้ แก่ราษฎรในพื้นที่และใกล้เคียง เป็นแหล่งเรียนรู้ในด้านเกษตรที่ถูกต้องและแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร รวมทั้งเพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยให้แก่ชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนเพื่อให้ราษฏรได้เกิดความสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้มีการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ แห่งนี้มีสถานที่ตั้งอยู่ที่บ้านยางน้อย หมู่ที่ 1,2 กิโลเมตรที่ 32 ถนนแจ้งสนิท ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ดำเนินการรวม 210 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 118 ไร่ พื้นที่ป่าโปร่ง 64 ไร่ สระน้ำ ประมง 14 ไร่ ถนนและสิ่งก่อสร้าง 14 ไร่
           นายเกษม กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมสำคัญที่ดำเนินการภายในโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ มีหลากหลายกิจกรรม ประกอบด้วยโครงการจัดการทรัพยากรที่ดินและปรับปรุงสภาพดิน โครงการพัฒนาการประมง โครงการผลิตผักปลอดภัยสารพิษ โครงการแปลงขยายพันธุ์สมุนไพร โครงการสวนตัวอย่าง โครงการพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวพันธุ์บริสุทธิ์ ทดสอบและพัฒนาการปลูกพืชไร่ เศรษฐกิจก่อนและหลังนา ทดสอบและพัฒนาการผลิตเส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน โครงการผลิตผ้าไหม Royal Thai Silk ทดสอบและพัฒนาการเพาะเห็ดเศรษฐกิจและเห็ดป่า โครงการผลิตพืชอินทรีย์ โครงการผลิตพืชที่มีศักยภาพในระบบหมุนเวียนในแปลงไม้ผล โครงการปรับสภาพนิเวศน์ ป่าเสื่อมโทรมเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ การผลิตไม้ดอกไม้ประดับเพื่อการค้า กิจกรรมผลิตปศุสัตว์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านพืชและปัจจัยการผลิต ที่ปลอดภัยสู่เกษตรกร และโครงการบัญชีชาวบ้าน
           ด้านนายศรจิตร ศรีณรงค์ หัวหน้าสถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี กล่าวว่าในส่วนของกรมพัฒนาที่ดิน สถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 4 ได้ดำเนินการสนองพระราชดำริในโครงการฟาร์มตัวอย่างที่บ้านยางน้อย โดยเข้าไปสำรวจดิน พบว่าพื้นที่บ้านยางน้อย มีสภาพดินเป็นกลุ่มชุดดินที่ 40 เป็นกลุ่มดินร่วนหยาบลึก ถึงลึกมากที่เกิดจากตะกอนลำน้ำหรือวัตถุต้นกำเนิดเนื้อหยาบ ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดหรือเป็นกลาง การระบายน้ำดีถึงดีปานกลาง ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
           กรมพัฒนาที่ดินได้ทำการวิเคราะห์ดินเพื่อหาความอุดมสมบูรณ์ของดินและปรับปรุงบำรุงดิน พร้อมกับส่งเสริมและสาธิตการใช้สารอินทรีย์ชีวภาพ ให้แก่โครงการฟาร์มตัวอย่างในพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จำนวน 210 ไร่ ปรับปรุงดินโดยใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด (ถั่วพุ่มดำ) จำนวน 1,500 กิโลกรัม ปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ปูนโดโลไมด์ จำนวน 15,000 กิโลกรัม สาธิตการผลิตและการใช้ปุ๋ยหมัก จำนวน 10 ตัน สาธิตการผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ จำนวน 2,000 ลิตร สาธิตการใช้ปุ๋ยพืชสด จำนวน 10 ไร่ส่งเสริมการผลิตและการใช้ปุ๋ยหมัก ส่งเสริมการผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยพืชสด ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 1 แห่ง ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดิน จำนวน 100 ราย
           ผลสำเร็จของบ้านยางน้อยที่เล็งเห็นได้จากโครงการคือ ได้พัฒนามาเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญที่ทำให้ราษฎรละทิ้งแนวถิ่นฐานน้อยลง และช่วยเสริมรายได้ให้ชาวบ้านยางน้อยและบริเวณใกล้เคียงตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินาถ โดยการเป็นแหล่งผลิตอาหารคุณภาพและปลอดสารพิษ ที่ไม่เพียงมีขึ้นเพื่อการบริโภคของชาวไทย แต่ยังส่งออกไปสู่ประเทศต่างๆ ในโลกจนสามารถกล่าวได้ว่าคือคลังอาหารเลี้ยงคนไทยเลยทีเดียว
           นอกจากนี้ยังเป็นโรงเรียนสอนการเกษตรที่เน้นการมีส่วนร่วม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่เปิดให้ผู้สนใจจากภายนอกได้เข้าชมกระบวนการผลิต การจัดการด้านต่างๆ เช่น ภายในฟาร์ม ที่จัดรูปแบบของพื้นที่การเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ สัญลักษณ์แห่งการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ดึงดูดความสนใจด้วยแปลงข้าวพันธุ์บริสุทธ์ ผักปลอดสารพิษ สมุนไพร พืชไร่ ไม้ผล เห็ด พืชอินทรีย์ ไม้ประดับ ปศุสัตว์ ประมง และการปลูกหม่อนลี้ยงไหมพันธุ์พื้นเมืองแห่งเดียวในประเทศไทย เพื่อผลิตไหมคุณภาพระดับ Royal Thai Silk พร้อมทั้งมีอาคารจัดแสดงนิทรรศการและร้านค้าจำหน่ายสินค้าของศูนย์ศิลปาชีพ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกเลี้ยงไหมเพื่อให้ได้ไหมคุณภาพยอดเยี่ยม พร้อมกับการย้อมสีธรรมชาติ ตามแบบฉบับของถิ่นเมืองดอกบัวงาม แห่งดินแดนแม่น้ำสองสี ..นามว่าอุบลราชธานี
           เมื่อเข้าชมนิทรรศการแล้วต้องการซื้อเสื้อผ้าจากผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายแล้ว ก็สามารถเดินเข้ามาที่ร้านของศูนย์ศิลปาชีพที่อยู่ข้างๆ ได้ โดยผ้าไหมและผ้าฝ้าย เริ่มต้นที่ราคา 170 บาท ชุดสูท 700 บาท และถ้าเป็นผ้าซิ่นราคาอยู่ระหว่าง 3,000-7,800 บาท อย่าลืมซื้อข้าวกล้องปรุงเพื่อเสริมภูมิต้านทานด้วย ถุงละ 70 บาทเท่านั้น
           ไม่น่าแปลกใจที่ผลผลิตของบ้านยางน้อยในวันนี้ จึงมีอยู่อย่างมากมายหลายอย่างด้วยกัน ทั้งผ้ามัดหมี่ ผ้ากาบบัว เครื่องทองเหลือง ชุบเงินชุบทอง เครื่องปั้นดินเผา ดอกไม้ประดิษฐ์ จากโครงการศิลปาชีพ และผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงจากโครงการฟาร์มตัวอย่าง โดยเฉพาะสุดยอดข้าวกล้องปรุงเพื่อเสริมภูมิต้านทาน เนื้อสุกรและเป็ดเทศสายพันธุ์ดีจากจีน เรียกได้ว่าที่บ้านยางน้อยมีทุกสิ่งให้ชาวบ้านในพื้นที่สามารถเรียนรู้พัฒนาและนำมาใช้ได้อย่างยั่งยืน
           เกษตรกรที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่สนใจไปศึกษาหรือเรียนรู้พร้อมขอคำแนะนำในการดำเนินการดังกล่าวนี้ ในพื้นที่ของตนเองก็เดินทางไปดูได้ในพื้นที่ตลอดเวลา ที่นั่นมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำอย่างเป็นกันเอง รอท่านอยู่นะครับ
           หากว่าใครสนใจแวะเวียนไปศึกษาเที่ยวชมโครงการฟาร์มตัวอย่างบ้านยางน้อย ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี การเดินทางสะดวกระยะทางจากตัวอำเภอเมืองประมาณ 25 กิโลเมตร ตามถนนแจ้งสนิท หรือเส้นทางอุบล-เขื่องใน สอบถามได้ที่ โทร. 0-4547-3547, โทรสาร 0-4547-2547