บทความที่ 24 / 2551
ประกิต เพ็งวิชัย รายงาน

 

          “ผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ ปัจจัยการผลิตราคาสูง” สวนทางกันไปมาอย่างไม่หยุดพักให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ ยิ่งทำก็ยิ่งจน เป็นปัญหาหนักรอการแก้ไขให้หมดสิ้นอย่างถาวร การแก้ปัญหาเบื้องต้นเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ เช่น การประกันราคาและการพยุงราคา เป็นการบรรเทาความทุกข์ของเกษตรกรเท่านั้น เพราะปัญหาที่แท้จริงเนื่องจากสภาวะปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่นำเทคโนโลยีการผลิตมาใช้ผิดวิธี และมากเกินความจำเป็น เช่น ปุ๋ยเคมี สารกำจัดแมลงศัตรูพืช เกิดสารพิษตกค้างในพืชพันธุ์ธัญญาหาร ดิน และน้ำ เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์และสัตว์ ทำให้สภาพแวดล้อมขาดความอุดมสมบูรณ์ เป็นเหตุให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทุกปีจนบางครั้งต้องพบกับการขาดทุนเมื่อราคาผลผลิตตกต่ำ สุขภาพเสื่อมโทรมและได้รับสารพิษจากสารเคมีที่สะสมในร่างกายมากขึ้น ถ้าปล่อยให้เป็นสภาพเช่นนี้ตลอดไปอนาคตผลผลิตทางการเกษตรของไทยคงไม่ก้าวไกลในตลาดโลกอย่างแน่นอน เพราะการตระหนักด้านสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค ตลอดจนการกีดกันทางการค้าที่มิใช่กำแพงภาษีการปิดกั้นสินค้าเกษตรของไทยเข้าประเทศของเขาจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แล้วความยากลำบากจะเกิดกับใคร ในเบื้องต้นก็คือ “เกษตรกร”
          จากปัญหาด้านการเกษตรที่กล่าวมานั้นจังหวัดพิษณุโลกได้ให้ความรู้กับเกษตรกรโดยผ่านกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร และนำภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น การใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ และการใช้สารสกัดโรคและแมลง
          นายรุ่ง บุญพาเกิด หัวหน้าสถานีพัฒนาที่ดินพิษณุโลก กล่าวถึงการดำเนินงานช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดพิษณุโลก การผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด และปุ๋ยน้ำชีวภาพของเกษตรกร สามารถช่วยกันสร้างและรักษาไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมที่ด ีและลดต้นทุนการผลิตโดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น
          นางอรวรรณ คำภู่ ประธานกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านย่านยาว หมู่ที่ 4 ตำบลวงฆ้อง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก วัย 46 ปี กล่าวว่า เนื่องจากตำบลบ้านย่านยาว มีพื้นที่นา 2,706 ไร่ สภาพพื้นที่ทั่วไป เป็นดินที่มีลักษณะดินเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง ทำให้การทำนามีผลผลิตต่ำ จึงต้องมีการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว โดยเกษตรกรได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพประชาคมตำบลบ้านย่านยาวขึ้น เริ่มดำเนินงานการผลิตเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2550 กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินพิษณุโลกให้การสนับสนุนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ปุ๋ยน้ำชีวภาพ พร้อมให้คำแนะนำการทำน้ำสกัดชีวภาพและปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ และสารสกัดสมุนไพร ในการลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร สำหรับงบประมาณได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชน มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550 จำนวน 64,000 บาท จากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านย่านยาว และเงินทุนจากการระดมหุ้นจากสมาชิก เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคาร พร้อมเครื่องจักรซื้อเครื่องมือและวัสดุการผลิต วัตถุประสงค์การจัดตั้งโรงงานปุ๋ยอินทรีย์นั้นเพื่อเผยแพร่แนวคิดและการปฏิบัติการเรื่องเกษตรแบบผสมผสาน (เกษตรอินทรีย์) รักษาสมดุลตามธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับสู่สภาวะปกติ สนับสนุนภูมิปัญญาชาวบ้าน และกระตุ้นเศรษฐกิจพืชสมุนไพร ลดสารเคมีตกค้างในพืช ผัก ผลไม้ ทำให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีสุขภาพแข็งแรง ปัจจุบันมีกลุ่มสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการในโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ จำนวน 50 คน
          “การจัดทำปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด” เริ่มด้วยการนำมูลสัตว์ (มูลวัว, ควาย,ไก่) ผสมคลุกเคล้าโดยใช้น้ำและสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 เป็นตัวย่อยสลายคลุมด้วยพลาสติกกลับให้อากาศถ่ายเทและระบายความร้อน ทิ้งไว้ ประมาณ 1 เดือน ถึง 1 เดือนครึ่ง เมื่อเห็นว่าย่อยสลายหมดแล้ว นำมาเข้าเครื่องตีป่นเพื่ออัดเม็ดโดยมีความชื้นประมาณ 50% ตากแดดให้แห้งบนลานตากพื้นปูนนานประมาณ 6 ชั่วโมง ก่อนนำบรรจุถุงละ 50 กิโลกรัม ในส่วนของปุ๋ยน้ำชีวภาพ วิธีการไม่ยากนักคือนำเศษพืช ผัก ผลไม้ และวัชพืชอื่น ๆ เศษสัตว์ เช่น เศษปลา หอยเชอรี่ ฯลฯ มูลค้างคาว มูลวัว คลุกเคล้ากับกากน้ำตาล เปลือกสับปะรด หัวเชื้อจุลินทรีย์ (พด.2) โดยใช้น้ำสะอาดผสมเป็นตัวทำละลาย
           จากนั้นหมักในถังพลาสติก ขนาด 150-200 ลิตร ประมาณ 15-21 วัน เป็นใช้ได้ เพียงเท่านี้ เกษตรกรก็จะมีปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำขึ้นไว้ใช้เองในชุมชน ...ถึงแม้ราคาผลผลิตจะตกต่ำ...แต่ก็ยังพอมีกำไรเพราะสามรถช่วยลดต้นทุนลงได้