สารคดีที่ 10/2550
ประกิต เพ็งวิชัย รายงาน

           บ้านโคกอิฐ-โคกใน เป็นหมู่บ้านเก่าแก่แห่งหนึ่งของ จังหวัดนราธิวาส ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จำนวนประชากร ในหมู่บ้านมีจำนวน 78 คน 22 ครัวเรือน มีพื้นที่ทั้งหมด 6,915 ไร่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 1,072 ไร่ พื้นที่เดิมส่วนใหญ่ เป็นพื้นที่นาร้าง สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม และดินแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด และขาดความอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรทำนาไม่ได้ผล และไม่สามารถใช้พื้นที่ทำการเกษตรได้ ทำให้เกษตรกรต้องปล่อยพื้นที่ทิ้งร้าง เป็นจำนวนมาก

           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริ ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เข้าไปดำเนินการพัฒนาพื้นที่ บ้านโคกอิฐ-โคกใน ในปี พ.ศ. 2533 โดยนำผลสำเร็จจากการศึกษา ทดลอง วิจัย จากโครงการแกล้งดิน ไปถ่ายทอดสู่พื้นที่เกษตรกร โดยการจัดทำ โครงการทดสอบการถ่ายทอดเทคโนโลยีบ้านโคกอิฐ-โคกใน ในพื้นที่ 500 ไร่ ทำการปรับปรุงบำรุงดิน และปั้นคันนา จากนั้นร่วมกับ เกษตรกรทำแปลงเพาะกล้า ปลูกข้าวเป็นครั้งแรก และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ข้าวให้ผลผลิตเฉลี่ย 32 ถัง/ไร่ ซึ่งจากเดิมได้ผลผลิต น้อยมากแค่ 5-10ถัง/ไร่ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริ ในคราวเสด็จฯทอดพระเนตรสถานีสูบน้ำบ้านโคกกูแว บริเวณบ้านโคกอิฐ-โคกใน เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2535 ความว่า

           “...เราเคยมาโคกอิฐ-โคกใน มาดูเขาชี้ตรงนั้นๆ เขาทำ แต่ว่าเขาได้เพียง 5ถัง 10 ถัง แต่ตอนนี้ได้ขึ้นไปถึง 40-50 ถัง ก็ใช้ได้แล้ว ต่อไปดินก็ไม่เปรี้ยวแล้ว เพราะว่าทำให้เปรี้ยวเต็มที่แล้วโดยที่ขุดอะไรๆ ทำให้เปรี้ยวแล้วก็ระบาย รู้สึกว่านับวัน เขาจะดีขึ้น... อันนี้สิเป็นชัยชนะที่ดีใจมากที่ใช้งานได้ แล้วชาวบ้านเขาก็ดีขึ้น แต่ก่อนชาวบ้านเขาต้องซื้อข้าว เดี๋ยวนี้เขามีข้าวอาจจะขายได้”

           และเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ บริเวณบ้านโคกอิฐ-โคกใน ซึ่งทำให้บรรดาราษฎร และข้าราชการทุกคนในพื้นที่นั้น รู้สึก ซาบซึ้งและ ประทับใจมิรู้ลืม ในพระราชดำรัส ตอนหนึ่งความว่า “... แต่ก่อนนี้เรามายืนตรงนี้ เห็นพื้นที่ที่เขาทำน้อยกว่านี้แต่ว่าเป็นจุดที่เขียวที่สุด ใช้ได้ นี่ที่มาที่นี่ดีใจมาก ที่ทั้งเจ้าหน้าที่ทุกคน ร่วมกันทำและชาวบ้านร่วมกัน ช่วยกันทำ เห็นผลจึงต้องมาดูที่นี่ จะอธิบายได้...”

           นายบัณฑิต ตันศิริ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่าปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ดำเนินการ พัฒนาปรับปรุงพื้นที่ดิน เปรี้ยวเพื่อทำการเกษตรพื้นที่บ้านโคกอิฐ-โคกใน จำนวน 1,018 ไร่ โดยแบ่งเป็น 3 กิจกรรม คือ 1. พื้นที่ทำนา จำนวน 758 ไร่ โดยทำการปรับปรุงดิน เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวด้วยการ หว่านพืชปุ๋ยสดหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าว และทำการไถกลบลงในดินในขณะที่พืชปุ๋ยสดกำลังออกดอกบานเต็มที่ จากนั้นปลูกข้าวพันธุ์เฉี้ยงพัทลุง พันธุ์ลูกแดงและพันธุ์หอม กระดังงา ได้ผลผลิตเฉลี่ย 45-55 ถัง/ไร่ 2. พื้นที่ขุดยกร่องเพื่อปลูกพืชผักและทำการเกษตรแบบผสมผสานจำนวน 200 ไร่ และ 3. พื้นที่ขุดยกร่อง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันอีก 60 ไร่

           เกษตรกรบ้านโคกอิฐ-โคกใน ต่างรู้สึก ปลาบปลื้มปิติ และมีความภาคภูมิใจ ด้วยรอยยิ้มบนใบหน้าของทุกคน ที่พื้นที่ของตนสามารถทำการเกษตร ในพื้นที่ดินเปรี้ยว จนประสบผลสำเร็จ มีข้าวพอกินและเหลือขายด้วย โดยจัดตั้งกลุ่มผลิตข้าวซ้อมมือ ส่งจำหน่ายทั่วไป ทำให้มีรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น อีกทั้งทำให้ชุมชนเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น นับได้ว่า การขยายผลการพัฒนาในพื้นที่ บ้านโคกอิฐ โคกใน สามารถพัฒนาจนประสบผลสำเร็จ สนองพระราชดำริ สมพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และที่สำคัญ เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างต่อเนื่อง อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ