สารคดีที่ 9/2550
ประกิต เพ็งวิชัย รายงาน

นายวินัย ฤทธิกุล
ที่อยู่ : 62 ม.5 ต.เขาวง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี
เบอร์โทร : 08-9971-6318

            กระแสความนิยมของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยมีเพิ่มมากขึ้น แนวโน้มการตลาดแจ่มใสขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ “ขมิ้นชัน” ถือเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จนได้เป็นหนึ่งในสิบสองชนิดของสมุนไพรเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ปี 2548-2552) เนื่องจากมีการใช้ประโยชน์หลายด้าน ตั้งแต่ใช้บริโภคภายในครัวเรือน ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ทำสีผสมอาหารเป็นวัตถุดิบผลิต ผงกะหรี่และมัสตาร์ด ใช้เป็นส่วนผสมของยาแผนโบราณ มีสรรพคุณแก้โรคกระเพาะ ท้องอืด ท้องเฟ้อ รวมทั้งใช้เป็นวัตถุดิบในการ ผลิตเครื่องสำอาง โดยมีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญคือ สารเคอร์คูมิน

            ขมิ้นชัน ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องมีคุณภาพดี มีปริมาณสารเคอร์คูมิน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ปราศจากสารพิษตกค้าง ดังนั้นการปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ จึงมีความสำคัญกับการผลิตขมิ้นชัน เป็นอย่างมากเพราะมีผลต่อ ปริมาณสารเคอร์คูมินในขมิ้น โดยจะส่งผลให้ผู้บริโภคที่รักษาสุขภาพด้วยขมิ้นชันมีความมั่นใจในการใช้ผลิตภัณฑ์มากขึ้น

            กลุ่มวิสาหกิจชุมชนขมิ้นชันปลอดสารพิษ อำเภอบ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตขมิ้นชันอินทรีย์สู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นสบู่สมุนไพร น้ำมันขมิ้นชันสำหรับไล่ยุง ซึ่งนายวินัย ฤทธิกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขมิ้นชันปลอดสารพิษ เล่าให้ฟังว่า ประชาชนในพื้นที่มีอาชีพทำสวนยางพารา พื้นที่ว่างหลังบ้านจะปลูกผักไว้บริโภค จึงไม่มีการใช้สารเคมีเลยทำให้ มีสุขภาพร่างกาย แข็งแรง ซึ่งพื้นที่ในสวนส่วนหนึ่งจะปลูกขมิ้นชันไว้ทุกบ้าน เพราะเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่ชาวใต้นิยมบริโภค โดยใช้เป็นส่วนประกอบ ของอาหารประจำวันทั้ง แกงเหลือง แกงจืด ต่อมาเมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้นทำให้พื้นที่การเกษตรเริ่มลดลง การปลูกพืชผักไว้ บริโภค ก็น้อยลงด้วย เกษตรกรในพื้นที่จึงเลือกที่จะรวมกลุ่มปลูกขมิ้นชันปลอดสารพิษไว้บริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้เสริม โดยปลูกเป็นพืชแซมในสวนยางพาราหรือสวนปาล์มน้ำมันปลูกใหม่ ซึ่งยางพาราและ ปาล์มน้ำมันต้องใช้ระยะเวลา ตั้งแต่เริ่มปลูกถึงเก็บ ผลผลิตได้นานถึง 4 ปี รวมทั้งขมิ้นชันเป็นพืชที่ต้านทานโรคและแมลง อีกทั้งยังไม่เป็นพาหนะของโรคในสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งปี และเก็บรักษาผลผลิตไว้ได้เป็นเวลานาน

            การคัดเลือกพื้นที่ปลูก จะเลือกปลูกบนพื้นที่ไม่มีการใช้สารเคมีอย่างน้อย 2 ปี จากนั้นจะปลูกถั่วดำ เป็นพืชปุ๋ยสดปรับปรุง บำรุงดินโดยหว่านในอัตรา 4 กก./ไร่ เมื่อถั่วดำออกดอกจะไถกลบ ทิ้งไว้ 10-15 วัน แล้วจึงปลูกขมิ้นชันโดยใช้ระยะปลูก 30x80 ซม. การดูแลรักษา จะใส่ปุ๋ยหมักปีละ 2 ครั้ง ในอัตรา 500 กก./ไร่ เมื่อต้นอายุ 1 เดือน จะฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ในอัตรา 1:500 ทุกๆ 7-10 วัน และกำจัดวัชพืชทุกๆ 3 เดือน โดยสามารถเก็บเกี่ยวขมิ้นชันเมื่ออายุได้ 9 เดือน

            ขมิ้นชันที่ปลูกโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขมิ้นชันปลอดสารพิษจะมีสารเคอร์คูมินสูงถึง 20% ซึ่งถือว่าสูง เมื่อเปรียบเทียบ กับขมิ้นชันที่ปลูกในแหล่งปลูกอื่น ๆ ที่มีปริมาณสารเคอร์คูมินเฉลี่ยเพียง 6% สำหรับกลุ่มฯ จะรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกในราคาประกัน กิโลกรัมละ 8 บาท ซึ่งถือว่าสูงกว่าราคาขมิ้นทั่วไปที่ขายเพียงกิโลกรัมละ 4-5 บาท การปรับปรุง บำรุงดินทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 2,500-2,700 กิโลกรัม ทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมมากถึง 20,000 บาทต่อไร่