สารคดีที่ 8/2550
ประกิต เพ็งวิชัย รายงาน

“ชีวิตมีคุณค่า ผลผลิตมีราคา เมื่อไม่ต้องพึ่งพาผู้ค้าคนกลาง” ประสบการณ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกพืชปลอดภัยจากสารพิษและไร่นาสวนผสม จ.ลำปาง

นายบุญชัย ธรรมสีธิ
ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกพืชปลอดภัยจากสารพิษและไร่นาสวนผสม
249 หมู่ 5 ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
054-266-062

นายสมโภช ปานถม หมอดินอาสาประจำตำบลสบป้าด
253 หมู่ 5 ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
08-7176-8101

          ปัญหาการตลาดของสินค้าเกษตรมีมากมาย ทั้งปัญหาสินค้าล้นตลาดทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ปัญหาถูกกดราคาขายผลผลิต ผลผลิตพืชที่ออกตามฤดูกาลไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ปัญหาการเน่าเสียของผลผลิต ดังนั้นการบริหารจัดการระบบการผลิตพืชอย่างครบวงจร จึงมีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการเลือกชนิดพืช ปลูกในพื้นที่ให้มี ความเกื้อกูลกัน ใช้ทรัพยากรดินและน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดต้นทุนการผลิต การวางแผนผลิตพืช นอกฤดูกาลให้สอดคล้อง กับความต้องการของตลาด การวางแผนการตลาดและช่องทางในการจำหน่ายผลผลิตเพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าผลผลิตโดยการแปรรูปผลิตภัณฑ์

          นายบุญชัย ธรรมสีธิ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกพืชปลอดภัยจากสารพิษและไร่นาสวนผสม ได้ให้แนวคิดที่ใช้ในการ บริหารจัดการและวางแผนการผลิตพืชในพื้นที่ถือครองที่มีอยู่ 50 ไร่ ปลูกพุทราซุปเปอร์จัมโบ้ ไผ่หวาน และฟักทอง แบบผสมผสาน โดยหัวใจของการผลิตพืชอยู่ที่ดิน ต้องรักษาสภาพดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด มีธาตุอาหารและธาตุอาหารรองให้ครบถ้วน ตามความต้องการของพืช จึงได้เก็บตัวอย่างดินให้กรมพัฒนาที่ดินวิเคราะห์ธาตุอาหารทุกปี เพื่อปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืช ในระยะแรกเริ่มทำการเกษตรได้ใช้พื้นที่ทั้งหมดในการปลูกลำไย แต่ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาราคาผลผลิตลำไยตกต่ำมาก เพราะปริมาณผล ผลิตล้นตลาด จึงตัดสินใจโค่นต้นลำไยทิ้งทั้งหมด เปลี่ยนทิศทางมาปลูกพุทราซุปเปอร์จัมโบ้ ซึ่งเป็นพันธุ์จากไต้หวัน ด้วยเหตุผล ที่เป็นพืชใหม่ รสชาติดี มีคนปลูกน้อย ขายผลผลิตได้ราคาสูง เมื่อพิจารณาถึงการดูแลรักษาต้นพุทรา จำเป็นต้องใช้ไม้ไผ่ มาทำคอก ล้อมต้น เพื่อพยุงต้นจึงได้เลือกปลูกไผ่หวาน ที่สามารถขึ้นได้ในสภาพพื้นที่ที่มีหินก้อนใหญ่ๆ ปลูกพืชอื่นๆ ไม่ได้ ส่วนใต้ต้นพุทรา ก็จะปลูกฟักทองเป็นพืชเสริมรายได้ โดยอาศัยระบบน้ำจากต้นพุทรา เก็บผลผลิตในช่วงที่พุทราพักต้น ซึ่งพืชที่เลือกปลูก ทั้ง 3 ชนิดต่างก็มีวิถีชีวิตที่เกื้อกูลกันและสร้างรายได้อย่างคุ้มค่า พุทราซุปเปอร์จัมโบ้ จะตัดแต่งกิ่งในเดือนพฤษภาคม เพื่อให้ออกผลมาก ในช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีโรคแมลงรบกวน อีกทั้งใกล้เทศกาลใหม่ ทำให้ขายผลผลิตได้ราคาสูง ราคาประมาณ 70 บาท/กก. ผลผลิตบางส่วนจะนำมาแปรรูปเป็นพุทราอบแห้ง โดยผลสด 3 กก. จะได้ผลิตภัณฑ์อบแห้ง 1 กก. ขายในราคากิโลกรัม 200 บาท กิ่งที่เหลือจากการตัดแต่งจะนำมาเผาถ่าน ได้ถ่านไม้คุณภาพดี ไม่มีควัน และยังได้ผลิตภัณฑ์น้ำส้มควันไม้จากการเผาถ่าน เพื่อใช้ไล่ แมลง ไผ่หวาน ไผ่ 1 ต้นจะสามารถแตกกอได้ถึง 7 ลำ ราคาขายอยู่ที่ลำละ 3 บาท ทำให้ประหยัดต้นทุนค่าไม้ไผ่ทำคอกพุทรา และสามารถ ขายหน่อและลำที่เหลือใช้ได้ เศษไม้ไผ่ก็นำไปเผาเป็นถ่าน ส่วนฟักทอง เป็นพืชที่สามารถเก็บรักษาผลผลิต ได้นานและ ผลผลิตไม่เสียหายจากการขนส่ง อีกทั้งยังเป็นพืชอายุสั้นที่มีอายุเพียง 60 วัน สามารถปลูกได้ครั้งละมากๆ การกำหนดช่วงปลูกจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เก็บผลผลิตต้นเดือนกรกฏาคม เป็นช่วงที่ผลผลิตของตลาดยังไม่ออก เพราะเกษตรกร ทั่วไปมักปลูกฟักทองเป็นพืชหลังนาผลผลิตทำให้ออกมากในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ อีกช่วงคือ ปลูกในเดือนตุลาคม เก็บผลผลิตเดือนมิถุนายน ซึ่งช่วงปลูกจะเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว เกษตรกรรายอื่นที่มีพื้นที่ที่ ไม่มีระบบ ชลประทาน จะปลูกพืชไม่ได้เพราะขาดแคลนน้ำ แต่ส่วนพื้นที่ที่มีระบบชลประทานดีชาวนาจะใช้ช่วงเวลานี้เป็นฤดูปลูกข้าว ดังนั้นด้วย การ บริหารจัดการระบบต่างๆ ในพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถขายผลผลิตคุ้มค่ารายได้ปีละประมาณ 400,000 บาท

          แกนนำที่มีความสำคัญและเป็นผู้ริเริ่มการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกพืชปลอดภัยจากสารพิษและสารเคมี คือ นายสมโภช ปานถม หรือลุงอ้วน หมอดินอาสาประจำตำบลสบป้าด ที่ได้ก่อตั้งกลุ่มขึ้นในปี พ.ศ.2546 เนื่องจากประสบกับมีปัญหา ต้นทุนการผลิตสูง จากการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีจำนวนมาก ในระยะแรกรวบรวมสมาชิกกลุ่มได้ 30 คน ดำเนินการในพื้นที่ 30 ไร่ จึงได้ประสานงาน จากหน่วยราชการ ต่างๆ เพื่อขอความช่วยเหลือทางด้านวิชาการและปัจจัยการผลิต ทั้งจากสำนักงานเกษตรอำเภอแม่เมาะ องค์การบริหาร ส่วนตำบล สบป้าด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแม่เมาะ และกรมพัฒนาที่ดิน ที่ได้สนับสนุนปัจจัยการผลิตสารอินทรีย ์ทดแทนสารเคมี ีทางการ เกษตร การอนุรักษ์ดินและน้ำโดยใช้หญ้าแฝก ในพื้นที่ทำการเกษตรของลุงอ้วน จำนวน 4 ไร่ จะแบ่งปลูกไม้ผล จำนวน 2 งาน พืชผัก จำนวน 2 ไร่ มีบ่อปลา 2 บ่อ โดยปลูกหญ้าแฝกรอบขอบบ่อ สำหรับเทคโนโลยีการจัดการดินที่ใช้ถ่ายทอดให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ได้แก่ การเตรียมดินปลูก โดยการไถดะ 1 ครั้ง เพื่อหว่าน พืชปุ๋ยสด ถั่วพุ่ม บำรุงดิน อัตรา 8 กิโลกรัมต่อไร่ และไถกลบหลังจากถั่วพุ่ม ออกดอกเป็นการเพิ่มธาตุอาหารในดิน แล้วไถแปรเพื่อให้ดินมีความร่วนซุยจากนั้นจะกำจัดวัชพืชแล้วจึงทำการยกร่องแปลงผัก โดยใช้ปุ๋ย หมักที่ผลิตจากสารเร่ง พด.1 รองก้นหลุมก่อนปลูก จากนั้นใช้เศษฟางคลุมแปลงผักเพื่อรักษาความชื้นในดินและป้องกันวัชพืช การดูแลรักษาแปลงผัก จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ (พด.2) อัตรา 1:500 ฉีดพ่นทุก 10 วัน แล้วฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช (พด.7) ทุก 7 วัน เพื่อไล่แมลง รวมทั้งใช้เชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช (พด.3) กับพืชผักและไม้ผล การอนุรักษ์ดินและน้ำ จะปลูกหญ้าแฝกรอบๆ ขอบบ่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ให้รากหญ้าแฝกบำบัดน้ำเสีย และนำใบหญ้าแฝกที่ได้ จากการตัดแต่งมาคลุมดิน เพื่อรักษา ความชุ่มชื้นแก่ดินในแปลงปลูก และช่วยควบคุมการแพร่กระจายการเจริญเติบโตของหญ้าคา

          รายได้จากการปลูกพืชผักในระบบผสมผสานทำให้เกษตรมีรายได้วันละ 200-300 บาททุกวัน สุขภาพร่างกายแข็งแรง ดินมีสภาพดีขึ้นร่วนซุยขึ้น ระบบนิเวศดีขึ้น มีสัตว์และแมลงตามธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ปลูกพืช ปลอดภัย จาก สารพิษและไร่นาสวนผสม” มีสมาชิกที่หันมาปลูกพืชผักปลอดภัยจากสารพิษเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 64 ราย พื้นที่ดำเนินการรวมประมาณ 760 ไร่ จากการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีทางการเกษตร ทำให้มีต้นทุน การผลิตที่ลดลง และทำให้ฐานะ ของครอบครัวและความเป็นอยู่ของสมาชิกในครอบครัวของกลุ่มดีขึ้นเป็นลำดับ ไม่เพียงแต่มีรายได้ที่พอเพียงเท่านั้น แต่ยังมีสุขภาพที่ ปลอดภัยจากพิษภัยของสารเคมีอีกด้วย สำหรับผลผลิตที่ได้จะจำหน่ายในตลาดหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ งานนิทรรศการ และงานวันสำคัญ ๆ ของหน่วยงานราชการต่างๆ ของจังหวัดลำปางโดยไม่ผ่านคนกลางทำให้ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบด้านราคา และเป็นจุดเรียนรู้ทางด้านการเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกรและผู้สนใจจำนวนมาก