สารคดีที่ 7/2550
ประกิต เพ็งวิชัย รายงาน

จากดินเลวสู่นาอินทรีย์...วิถีชีวิตแบบพออยู่พอกินของคน “ยากที่จะจน”

นายทูล ธรรมนาม หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน
ที่อยู่ : 71/1 ม. 1 ต.บัวโคก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์

          ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในการผลิตพืช เพราะตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อม และทรัพยากรที่เอื้ออำนวย กับการทำเกษตร จึงเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกหลายชนิด พืชสำคัญอันดับหนึ่งที่ผลิตได้มาก นอกจากจะใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศแล้วยังสามารถส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลกได้อีกหลายปีต่อเนื่องกัน คือ “ข้าว”

          ในปัจจุบันอาหารหลักอย่างข้าว มีการปรับเปลี่ยนการผลิตสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ เป็นเพราะวิกฤตพิษภัย จากสารเคมีส่งผลกระทบ ต่อตัวผู้ผลิต สิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคทำให้กระแสการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น “ข้าวอินทรีย์” เป็นข้าวที่หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีทุกชนิดในทุกขั้นตอนการผลิตและการเก็บรักษาผลผลิต เน้นการใช้สารอินทรีย์ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ ของดิน ซึ่งจะช่วยทำให้ต้นข้าวมีความอุดมสมบูรณ์ และแข็งแรงตามธรรมชาติ ต้านทานโรคและแมลงได้ดี

          แหล่งผลิตข้าวอินทรีย์ คุณภาพดีของประเทศไทย กระจายอยู่ใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ โดยเนื้อที่เพาะปลูกและ ปริมาณผลผลิตข้าว อินทรีย์มีไม่ถึงร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับพื้นที่ปลูกและผลผลิตข้าวทั้งหมดของประเทศ จะเห็นได้ว่ากำลัง การผลิต ข้าวอินทรีย์ ยังน้อยกว่าความต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ทำให้ราคาข้าวอินทรีย์สูงกว่าราคาข้าวทั่วไปถึง ร้อยละ 20

          กลุ่มสหกรณ์ผู้ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์บัวโคก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ.2544 โดยเป็นกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ คุณภาพของตลาดข้าวแฟร์เทรด ส่งออกไปยังประเทศ ฝรั่งเศส อเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น โดยในปี พ.ศ.2549 – 2550 มีโควต้า ส่งออกข้าวปฐมอินทรีย์ ปีละ 1,700 ตันข้าวสาร “ข้าวปฐมอินทรีย์” คือ ข้าวที่ผลิตในแปลงที่ทำการเกษตรอินทรีย์ ถัดจากฤดูการผลิต ข้าวที่ผลิตแบบเว้นไม่ใช้สารเคมีมา 1 ปี เพื่อให้ปริมาณสารเคมีที่สะสมในดินและน้ำมาเป็นเวลานานเริ่มลดลง และในปี พ.ศ.2551-2554 จะมีโควต้าส่งออกข้าวมาตรฐานอินทรีย์ ปีละ 1,700 ตันข้าวสาร “ข้าวมาตรฐานอินทรีย์” คือข้าวที่ได้รับ การรับรองจากสำนักงาน มาตรฐานอินทรีย์แล้วว่าผลผลิตไม่มีการปนเปื้อนสารเคมี ซึ่งการผลิตข้าวอินทรีย์ในพื้นที่ได้ริเริ่มจากนายทูล ธรรมนาม หมอดินอาสา ประจำหมู่บ้าน ที่ประสบปัญหาดินนาแข็ง ดำนาไม่ได้ ต้นข้าวสูงท่วมหัว แต่อ่อนแอต่อโรคแมลงศัตรูพืช เมล็ดข้าวที่ได้ก็ลีบ ทั้งที่ใช้ปุ๋ยเคมีเต็มที่ ทำให้ขายข้าวแล้วขาดทุน จนกระทั่งสถานีพัฒนาที่ดินสุรินทร์ กรมพัฒนาที่ดินเข้ามาส่งเสริมการปรับปรุงบำรุงดิน และจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ในปี พ.ศ.2542 จึงได้ทดลอง ทำตามปรากฏว่า ดินมีคุณภาพดีขึ้นไม่แน่นทึบ เหมือนแต่ก่อน ข้าวมีคุณภาพดีขึ้น รวงแน่น ไม่มีเมล็ดลีบเหมือนแต่ก่อน สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวลงได้อย่างมาก เกษตรกรรายอื่น ในหมู่บ้านเห็นตัวอย่างจึงทำตาม เห็นผลเป็นอย่างดี จึงขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ในหมู่บ้านเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

          เทคนิคการผลิตข้าวอินทรีย์โดยการใช้ผลิตภัณฑ์กรมพัฒนาที่ดินทำได้ในช่วงก่อนปลูกข้าว ประมาณเดือนมีนาคมถึง เมษายนหลังฝนตก จะหว่านเมล็ดพันธุ์ถั่วพุ่มหรือถั่วพร้า อัตรา 8-10 กิโลกรัม/ไร่ และหว่านปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดในอัตรา 50-100 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อถั่วออกดอกจะไถกลบ ต่อมาในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนจะเป็นช่วงหว่านข้าวพร้อมถั่วพุ่มหรือถั่วเขียว อัตรา 3-5 กิโลกรัม/ไร่ แล้วไถกลบ ถั่วจะเจริญดีกว่าข้าว แต่เมื่อมีน้ำขังถั่วจะตาย และข้าวจะสามารถเจริญได้รวดเร็ว เมื่อข้าวอายุ 1 เดือน จะหว่านปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดในอัตรา 50-100 กิโลกรัม/ไร่ ระยะที่ข้าวเจริญเติบโตจนถึงระยะแตกกอ จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ พด.2 ที่ได้จากการหมักพืชสีเขียว ผสมน้ำในแปลงนาอัตรา 5 ลิตร/ไร่ ในระยะข้าวออกดอก จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ พด.2 ที่ได้จากการหมัก ผลไม้สุกหรือพืชผักสีเหลืองหรือสีแดง ผสมน้ำในแปลงนาอัตรา 5 ลิตร/ไร่ หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าว ประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม จะหว่านเมล็ดพันธุ์ถั่วพร้าหรือถั่วพุ่มอัตรา 8-10 กิโลกรัม/ไร่ แล้วจึงไถกลบพร้อมตอซังข้าว ปล่อยให้ถั่วเจริญเติบโต จนสามารถเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ แล้วจึงไถกลบต้นถั่วก่อนการหว่านข้าวครั้งต่อไป การกำจัดวัชพืช ต้องมีการเตรียมดิน ที่ดีก่อนปลูกข้าว จะลด ปัญหาวัชพืชลงได้ ซึ่งถ้ายังมีวัชพืชในแปลงอีกหลังข้าวงอกแล้วจะใช้วิธีการตัดหรือถอน การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช แมลงศัตรูข้าว จะมีน้อยมากเนื่องจากจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดที่ผสมน้ำหมัก สะเดา บอระเพ็ด ข่า ตะไคร้ ที่ผลิตจากสารเร่ง พด.7 รวมทั้งมีการใช้ไฟล่อแมลง ซึ่งสามารถนำแมลงมาบริโภค หรือใช้เลี้ยงปลาได้

          วิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ของกลุ่มเกษตรกรบ้านบัวโคก มีวิธีการคือ เตรียม น้ำจุลินทรีย์จาก กากน้ำตาล 5 ลิตร ผสมปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ผลิตจาก พด.2 20 ลิตร และน้ำหมักสมุนไพร พด.7 20 ลิตร ผสมสารเร่ง พด.1 1 ซอง และน้ำ ผสมให้เข้ากัน จากนั้นนำปุ๋ยคอก 400 กิโลกรัม แกลบเผา 300 กิโลกรัม และรำข้าว 100 กิโลกรัม คลุกเคล้าให้เข้ากัน ราดด้วยน้ำจุลินทรีย์ ที่เตรียมไว้ให้ได้ความชื้น 50% หมักไว้ 1-2 เดือน กลับกองทุกๆ 7-10 วัน เมื่อปุ๋ยหมักได้ที่แล้วจะเพิ่มธาตุอาหารโดยการฉีดพ่น สารละลายแคลเซียมผสมปูนมาร์ล และฟอสเฟตอย่างละ 5 กิโลกรัม จนปุ๋ยปั้นเม็ดได้ที่แล้วจึงไว้ในที่ร่ม 2-3 วัน จึงสามารถนำไปใช้ได้

          นอกเหนือจากรายได้จากการทำนาข้าวอินทรีย์ จำนวน 7 ไร่ ที่ได้ข้าวเปลือกจำนวน 4,000 กิโลกรัม เก็บไว้บริโภคในครัวเรือนและแบ่งขายจำนวน 2,500 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 25,000 บาทต่อปี เกษตรกรยังมีรายได้ เสริมจากการเลี้ยงไข่ไก่ บนบ่อปลา ปลูกพืชผักสวนครัวและไม้ผล ปลูกแตงโม การขยายเมล็ดพันธุ์ถั่วพร้าและถั่วพุ่ม รวมรายได้ทั้งหมดประมาณ 120,000 บาทต่อปี ซึ่งคนที่ขยันและอดทนพลิกฟื้นพื้นดินเลวเป็นดินดี มีชีวิตอย่างพอเพียง เป็นต้นแบบของ “คนยากที่จะจน” ที่น่าเอาเป็นแบบอย่าง