สารคดีที่ 6/2550
ประกิต เพ็งวิชัย รายงาน

นายคำนึง ชนะสิทธิ์
ที่ปรึกษาหมอดินอาสาประจำจังหวัดจันทบุรี-เกษตรดีเด่นจังหวัดจันทบุรีประจำปี 2548
ที่อยู่ : 6/1 ม.12 บ.ชำปลาไหล ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
เบอร์โทร : 08-9092-9596

          “แดนแห่งความสามัคคี เกษตรอินทรีย์ก้าวหน้า ชาวประชามีน้ำใจ ตำบลใหญ่ 17 หมู่ พระยอดธงคู่ที่ทำการ เจดีย์สถานเขาน้อย เมืองเรียบร้อยน่าอยู่ คนเชิดชูคุณธรรม” นี่คือคำขวัญของตำบลสองพี่น้อง ที่ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวน โดยเฉพาะมุ่ง เป็นการทำ สวนไม้ผลอินทรีย์ จึงไม่มีสารพิษตกค้างต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

          เดิมเกษตรกรในพื้นที่มีการใช้สารเคมีอย่างมากตลอดมา เพื่อรักษาไว้ให้ได้ซึ่งผลผลิตจำนวนมาก กำไรดี จนถึงจุดหนึ่ง ที่ยิ่งใช้ สารเคมี ผลผลิตก็เริ่มลดลง ขายผลผลิตได้ทุนคืนเพียงครึ่งเดียว จึงริเริ่มปรับเปลี่ยน วิถีชีวิตสู่การผลิต ในระบบการทำ เกษตรอินทรีย์

          ผู้ใหญ่คำนึง ชนะสิทธิ์ ที่ปรึกษาหมอดินอาสาประจำจังหวัดจันทบุรี และเกษตรกรดีเด่นจังหวัดจันทบุรี ประจำปี 2548 เปลี่ยนพื้นที่ 30 ไร่ มาทำเกษตรอินทรีย์ 100% แต่เดิมเริ่มทำสวนไม้ผล ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 โดยมุ่งแต่ จะให้ได้ผลผลิตมากๆ ใช้สารเคมีอย่างเต็มที่ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2535 บริษัทนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร ได้พาลูกค้าไปดู โรงงาน ผลิตที่ประเทศจีน ผู้ใหญ่คำนึง ก็ร่วมเดินทางไปด้วย และมีโอกาสไปเยี่ยม ญาติที่จีนด้วย ทำให้ได้เห็นว่าเกษตรกรจีน ไม่ใช้สารเคมี ในการปลูกพืชเลย ทั้งที่จีนผลิตปุ๋ยและยาเคมีได้เอง ใช้เพียงปุ๋ยหมักที่ทำจากฟางข้าว มูลวัว ส่าเหล้า และผลไม้หมัก ใส่ในสวนที่ทำ การเกษตร แบบผสมผสาน มีทั้งลิ้นจี่ แอปเปิ้ล กาแฟ หลังจากกลับมาก็ฉุกคิดที่จะทำเกษตรในระบบผสมผสาน ตั้งใจแน่วแน่ ว่าถ้าเห็นผล เป็นรูปธรรมจะหยุดการใช้เคมีทุกอย่าง โดยเริ่มทดลองจำนวน 1 ไร่ ในปีแรกของการเริ่มต้น ปรากฏว่าต้นทุเรียน แสดงอาการขาด ธาตุอาหารเหลืองทั้งต้น จึงตั้งใจว่าจะใส่ปุ๋ยหมักบำรุงต้น ด้วยความบังเอิญ ที่ทำกระสอบปุ๋ยหมัก แตกใต้โคนต้นทุเรียน เวลาผ่านไป สังเกตเห็นทุเรียนต้นนั้นงามดีกว่าต้นอื่นๆ ทำให้เกิดกำลังใจมุมานะขึ้น กระทั่งประสบความสำเร็จในปี พ.ศ.2538 ผู้ใหญ่คำนึงสรุปให้ฟังว่า “ปุ๋ยเคมีสูตรไหนก็สู้ปุ๋ยอินทรีย์สูตรสมบูรณ์ไม่ได้ เป็นปุ๋ยที่ไม่แรงแต่ทำให้ต้นไม้มีผลผลิตที่ยาวนาน ถ้าเราดูแลดินให้ดี มีความอุดมสมบูรณ์ ต้นจะแข็งแรง ไม่มีโรคแมลง มากวน”

          ในส่วนของการปลูกไม้ผลผสมผสานก็ได้แนวคิดเรื่อง “ครอบครัวผลไม้” ซึ่งสังคมพืชก็เหมือนสังคมมนุษย์ ที่ต้องช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน ดังนั้นในสวนผลไม้จะเห็นพืชสมุนไพรหลากหลายชนิดปลูกใต้โคนต้น มีทั้ง กระวาน หน่อแดง ว่านสาวหลง เตยหอม ขมิ้น ขมิ้นอ้อย ตะไคร้หอม ซึ่งมีประโยชน์ในการไล่แมลง เพิ่มอินทรียวัตถุใต้ต้น ควบคุมความชื้นในดิน สมุนไพรเหล่านี้ สามารถช่วยป้องกัน โรคไฟท๊อปโทร่าได้ผลถึง 80%
          สมุนไพรที่ผลิตใช้เอง ในสวนเพื่อไล่แมลงแบ่งออกเป็น 5 ชนิด ประกอบด้วยสมุนไพรรสขม ใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและป้องกันแมลง เช่น ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด สะเดา หญ้าโต้ใบ โทงเทง สมุนไพรรสฝาด ใช้ป้องกันเชื้อราและโรคพืช เช่น เปลือกแค เปลือกมังคุด เปลือดสีเสียด ใบฝรั่ง ใบทับทิม ขมิ้น สมุนไพรรสเปรี้ยว ใช้ไล่แมลง ทำให้แสบร้อน เช่น เปลือกส้ม มะกรูด น้ำส้มสายชู น้ำมะขาม น้ำมะนาว สมุนไพรรสเบื่อเมา ใช้ฆ่าหนอน เพลี้ย และแมลง อื่นๆ เช่นหางไหล ยาสูบ ขอบชะนางแดง-ขาว หนอนตายยาก ใบน้อยหน่า สลัดได พญาไร้ใบ แสยก เมล็ดมะกล่ำ สมุนไพรมีกลิ่นหอมระเหย ใช้ไล่แมลงให้แสบร้อน เปลี่ยนกลิ่นต้นพืช เช่น ตะไคร้หอม โหระพา กระเพรา ผักชี สาบเสือ สาบแรงสาบกา กระทกรก ผักแพรวแดง ข่า

          หลักในการดูแลสวนผลไม้ของผู้ใหญ่คำนึง จะใช้ปุ๋ยหมักที่หมักจากสารเร่ง พด.1 ของกรมพัฒนาที่ดิน โดยใส่ต้นละ 40 กก./ปี ในช่วงก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 10 – 15 วัน และใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ผลิตจากสารเร่ง พด.2 ที่หมักจากผลไม้ ในอัตรา 1 : 500 ร่วมกับระบบ การให้น้ำ ต้นละ 10 ลิตร/ปี สำหรับวิธีการป้องกันและรักษาโรครา เช่น ราน้ำค้าง ราดำ จะใช้สมุนไพรหมักกับสารเร่ง พด.7 ประกอบด้วย หมาก เปลือกมังคุด ขมิ้น สับละเอียด อย่างละ 20 กก. หมักกับกากน้ำตาล 20 กก. สารเร่ง พด.7 5 ซอง และน้ำ 110 ลิตร ทั้งไว้ประมาณ 1 เดือน ฉีดพ่นตอนเย็น 1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง อัตรา 1 : 200 วิธีการป้องกันแมลง จะใช้สมุนไพร 3 สูตร คือ สูตรแรก กำจัดหนอนใย หนอนกระทู้ หนอนหนังเหนียว จะใช้สมุนไพร ตะไคร้หอม ข่า หนอนตายยาก สูตรที่สอง กำจัดเพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย สูตรที่สาม กำจัดหนอนชอนใบ หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เพลี้ยไฟ ไรแดง จะใช้สมุนไพร กะทกรก ใบน้อยหนา แสยก โดยใน แต่ละสูตรจะใช้สมุนไพรสับละเอียดชนิดละ 20 กก. หมักกับกากน้ำตาล 20 กก. และใช้สารเร่ง พด.7 5 ซอง ผสมกับน้ำ 110 ลิตร ทั้งไว้ประมาณ 1 เดือน ฉีดพ่นตอนเย็น 1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง ผสมในอัตรา 1 : 200

          ทุกวันนี้รายได้ของสวนไม้ผลผสมผสานสมุนไพร ในพื้นที่ 30 ไร่ มีปริมาณผลผลิตใกล้เคียงกับสวนที่ใช้สารเคมี แต่ต้นทุนถูก กว่าสวนที่ใช้สารเคมีมากกว่าครึ่ง เพราะไม่ต้องลงทุนค่ายาเคมี รวมทั้งทุ่นราคาค่าแรงงานฉีดพ่นสารเคมี ผลผลิตก็มีราคา ขายสูงกว่า ปกติ 2 – 4 บาท/กก. แต่คุณภาพผลผลิตดีกว่ามาก ทุเรียนที่ปลูกในสวนอินทรีย์ เมื่อเทียบกับแปลง ที่ใช้เคมีพบว่ามีผิวสวย หนามสวย น้ำหนักดี เมื่อสุกได้ที่เนื้อทุเรียนจะมีสีเหลือง หวาน กรอบนุ่ม เนื้อเหนียว สุกทั่วถึงพร้อมกันทุกพู สำหรับผลผลิต 1 ตัน จะสังเกตว่า พบหนอน ชอนเปลือกทำลายผลผลิตเพียง 10 กก. เท่านั้น ซึ่งหากเทียบกับสวนที่ใช้ยาฆ่าแมลงที่กลับพบว่าถูกทำลายมากกว่า คือผลผลิตเสียหายมากถึง 200 กก. สำหรับลองกอง ในสวนที่ปลูก ในระบบ อินทรีย์ จะมีรสหวานกลมกล่อม ผลไม่แตก นอกจากรายได้ที่ได้จากการขายผลไม้แล้ว เกษตรกรยังมีรายได้เสริมจากการขายพืชสมุนไพรสด เดือนละมากกว่า 10,000 บาท
          ผู้ใหญ่คำนึง ชนะสิทธิ์ ได้ฝากข้อคิดให้ผู้มีใจมุ่งมั่น ในการทำเกษตรอินทรีย์ว่า “การทำเกษตรอินทรีย์ทำได้จริง เป็นเรื่องที่ ปฏิบัติมาแล้ว ทำแล้วดีจริงหรือไม่ ต้องลองทำดูเอา ซึ่งการลงทุนทำนี้ต้องลงทุนด้วยหัวใจ ที่มุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ ไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่ได้ผลระยะยาว”